
ใครจะคิดว่าแค่ยืนอยู่เฉย ๆ ในบ้านหรือที่ทำงาน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งได้ ภัยเงียบนี้มาจากก๊าซที่ชื่อว่า “เรดอน” ซึ่งล่องลอยอยู่รอบตัวเราโดยที่เราไม่รู้ตัว ถ้าคุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่ เราอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับก๊าซเรดอนให้มากขึ้น พร้อมเช็กตัวเองไปพร้อมกันว่า ตอนนี้คุณกำลังเผชิญกับระดับเรดอนที่สูงเกินไปหรือเปล่า ? เรดอน ก๊าซอันตรายที่มองไม่เห็น “ก๊าซเรดอน” (Radon) เป็นก๊าซกัมมันตรังสีที่เกิดจากการสลายตัวตามธรรมชาติของธาตุยูเรเนียม ทอเรียม และเรเดียมที่พบในหินและดิน ก๊าซนี้ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และมองไม่เห็น โดยจะซึมขึ้นมาจากใต้ดินและกระจายตัวสู่ชั้นบรรยากาศในบางพื้นที่ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะธรณีวิทยาท้องถิ่น เรดอนสามารถละลายอยู่ในน้ำใต้ดิน และเมื่อมีการใช้น้ำนั้น ก๊าซเรดอนจะถูกปล่อยออกสู่อากาศ ก๊าซเรดอนมักมีระดับต่ำมากในที่โล่งกลางแจ้ง แต่สามารถสะสมในบริเวณที่มีการระบายอากาศไม่เพียงพอ เช่น เหมืองใต้ดินหรือพื้นที่ปิดใต้ดินอื่น ๆ ได้ ผลกระทบจาก “ก๊าซเรดอน” ที่นำมาซึ่งโรคร้าย เนื่องจาก “ก๊าซเรดอน” เป็นกัมมันตภาพรังสี จึงปล่อยอนุภาคแอลฟา ซึ่งเป็นรังสีพลังงานสูงที่ทำลายดีเอ็นเอในเซลล์มนุษย์และทำให้เกิดมะเร็งปอด เมื่อสูดเรดอนเข้าไป อนุภาคเหล่านี้จะเข้าไปติดในปอดและปล่อยอนุภาคแอลฟาออกมาอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ พบว่า ยังพบการกระจายตัวของก๊าซเรดอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งปอดในพื้นที่ประมาณ 20 จังหวัดทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือนั้น ตรวจพบก๊าซเรดอนในอาคารในปริมาณมากและมีความสัมพันธ์ระหว่างก๊าซเรดอนกับการเกิดโรคมะเร็งปอด ไม่เพียงแค่ในไทยเท่านั้น แต่องค์กรระดับโลกอย่าง องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง…
The post ก๊าซเรดอน สาเหตุมะเร็งปอด แค่อยู่บ้านหรือในอาคาร ก็อาจเสี่ยงปอดพังได้ appeared first on BT beartai.
ใครจะคิดว่าแค่ยืนอยู่เฉย ๆ ในบ้านหรือที่ทำงาน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งได้ ภัยเงียบนี้มาจากก๊าซที่ชื่อว่า “เรดอน” ซึ่งล่องลอยอยู่รอบตัวเราโดยที่เราไม่รู้ตัว
ถ้าคุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่ เราอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับก๊าซเรดอนให้มากขึ้น พร้อมเช็กตัวเองไปพร้อมกันว่า ตอนนี้คุณกำลังเผชิญกับระดับเรดอนที่สูงเกินไปหรือเปล่า ?
เรดอน ก๊าซอันตรายที่มองไม่เห็น
“ก๊าซเรดอน” (Radon) เป็นก๊าซกัมมันตรังสีที่เกิดจากการสลายตัวตามธรรมชาติของธาตุยูเรเนียม ทอเรียม และเรเดียมที่พบในหินและดิน ก๊าซนี้ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และมองไม่เห็น โดยจะซึมขึ้นมาจากใต้ดินและกระจายตัวสู่ชั้นบรรยากาศในบางพื้นที่ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะธรณีวิทยาท้องถิ่น
เรดอนสามารถละลายอยู่ในน้ำใต้ดิน และเมื่อมีการใช้น้ำนั้น ก๊าซเรดอนจะถูกปล่อยออกสู่อากาศ ก๊าซเรดอนมักมีระดับต่ำมากในที่โล่งกลางแจ้ง แต่สามารถสะสมในบริเวณที่มีการระบายอากาศไม่เพียงพอ เช่น เหมืองใต้ดินหรือพื้นที่ปิดใต้ดินอื่น ๆ ได้
ผลกระทบจาก “ก๊าซเรดอน” ที่นำมาซึ่งโรคร้าย
เนื่องจาก “ก๊าซเรดอน” เป็นกัมมันตภาพรังสี จึงปล่อยอนุภาคแอลฟา ซึ่งเป็นรังสีพลังงานสูงที่ทำลายดีเอ็นเอในเซลล์มนุษย์และทำให้เกิดมะเร็งปอด เมื่อสูดเรดอนเข้าไป อนุภาคเหล่านี้จะเข้าไปติดในปอดและปล่อยอนุภาคแอลฟาออกมาอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ พบว่า ยังพบการกระจายตัวของก๊าซเรดอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งปอดในพื้นที่ประมาณ 20 จังหวัดทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือนั้น ตรวจพบก๊าซเรดอนในอาคารในปริมาณมากและมีความสัมพันธ์ระหว่างก๊าซเรดอนกับการเกิดโรคมะเร็งปอด
ไม่เพียงแค่ในไทยเท่านั้น แต่องค์กรระดับโลกอย่าง องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง (International Agency of Research on Cancer : IARC) แห่งองค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ได้สรุปว่า เรดอนเป็นสารก่อมะเร็งและเป็นสาเหตุของมะเร็งปอดในมนุษย์ แต่สิ่งที่น่าตกใจคือก๊าซเรดอนเป็นก๊าซที่สามารถพบได้ตามอาคารบ้านเรือนทั่วไป
ค่าความเข้มข้นของก๊าซเรดอนเท่าไหร่ที่ทำให้เสี่ยงมะเร็ง !
การหาปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรดอนในบ้านสามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีง่าย ๆ และมีต้นทุนต่ำโดยใช้ เครื่องตรวจวัดแบบพาสซีฟขนาดเล็ก สำหรับค่าปริมาณก๊าซเรดอนที่อยู่ในเกณฑ์อันตรายคือ 148 Bq/m3 ขึ้นไป ซึ่งปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรดอนโดยเฉลี่ยทั่วโลก ภายในอาคารจะอยู่ที่ 40 Bq/m3 ส่วนภายนอกอาคารจะมีค่าก๊าซเรดอนโดยเฉลี่ย 10 Bq/m3
ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดจะเพิ่มขึ้นประมาณ 16% ต่อการเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นเฉลี่ยของเรดอน 100 Bq/m³ ยิ่งสัมผัสเรดอนมาก ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
ระดับเรดอนมักจะสูงในพื้นที่ที่ติดกับพื้นดิน เช่น ห้องใต้ดิน หรือชั้นล่างของบ้าน แต่อาจพบความเข้มข้นในระดับสูงได้แม้กระทั่งในชั้นบน
ระดับของเรดอนสามารถแตกต่างกันมากแม้ในบ้านที่อยู่ติดกัน และยังเปลี่ยนแปลงภายในอาคารเดียวกันได้ตลอดวันหรือแต่ละวัน ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการประเมินค่าความเข้มข้นของเรดอนภายในอาคารคือการวัดค่าเฉลี่ยรายปี ซึ่งควรวัดอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน
(Bq/m³ หมายถึง “เบ็กเคอเรลต่อลูกบาศก์เมตร” (Becquerel per cubic meter) เป็นหน่วยวัดความเข้มข้นของกัมมันตรังสีในอากาศ)
รับมืออย่างไรหากไม่อยากเสี่ยงมะเร็งเพราะก๊าซเรดอน
ก๊าซเรดอนแม้ไม่สามารถกำจัดให้สลายไปได้เนื่องจากเป็นก๊าซที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีดังนี้
ตรวจวัดเรดอนในบ้าน ควรวัดนาน 3 เดือนขึ้นไป เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยที่แม่นยำ เพราะระดับเรดอนเปลี่ยนแปลงตามวัน เวลา และฤดูกาล และควรติดตั้งในพื้นที่ที่มีการใช้งานบ่อย เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น หรือห้องใต้ดิน
เปิดหน้าต่าง ติดพัดลมดูดอากาศ เมื่ออากาศหมุนเวียนดี ก๊าซเรดอนที่สะสมอยู่จะถูกขับออก ลดความเข้มข้นในอาคาร
อุดรอยรั่ว เรดอนมักเล็ดลอดเข้ามาผ่านรอยแตกตามพื้น ผนัง หรือช่องรอบท่อ การอุดรอยรั่วด้วยซีล ซิลิโคน หรือวัสดุกันซึม ช่วยลดช่องทางที่เรดอนจะเข้ามาในบ้าน
ระวังการใช้งานวัสดุก่อสร้าง หินแกรนิต หินอ่อน หรือวัสดุก่อสร้างจากธรรมชาติบางชนิด อาจปล่อยเรดอนได้ แนะนำให้เลือกวัสดุที่ผ่านการรับรอง หรือตรวจสอบแหล่งที่มาก่อนใช้งาน
เลิกบุหรี่ เพราะผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงมะเร็งปอดจากเรดอนมากกว่าคนไม่สูบถึง 25 เท่า
ถ้าระดับสูงเกินมาตรฐาน ควรปรับโครงสร้างบ้านหรือติดตั้งระบบดูดเรดอน
อย่างไรก็ตาม ก๊าซเรดอนเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ยังมีสาเหตุสำคัญอื่น ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม เช่น การสูบบุหรี่ มลพิษทางอากาศอย่าง PM 2.5 สารกัมมันตรังสีบางชนิด รวมถึงกรรมพันธุ์ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ พร้อมกับการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และสังเกตความผิดปกติของร่างกายแม้เพียงเล็กน้อย จะช่วยให้สามารถป้องกันและเข้ารับการรักษาได้เร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
แต่หากคุณยังมีความกังวลเกี่ยวกับก๊าซเรดอนในบ้านหรืออาคารที่อยู่อาศัย ก็สามารถดำเนินการตรวจสอบระดับเรดอนได้ โดยเฉพาะหากมีการซื้อขายบ้าน หรือหลังจากทำการปรับปรุงบ้านเพื่อลดระดับเรดอนแล้ว ควรมีการประเมินผลอีกครั้งเพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย
The post ก๊าซเรดอน สาเหตุมะเร็งปอด แค่อยู่บ้านหรือในอาคาร ก็อาจเสี่ยงปอดพังได้ appeared first on BT beartai.
Credit ข่าวจาก : www.beartai.com/