
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ลึกประมาณ 10 กิโลเมตร โดยมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเวลาประมาณ 13.20 น. และส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงหลายพื้นที่ในประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพฯ สร้างความตื่นตระหนกและสับสนให้กับผู้คน ทำให้หลายคนสงสัยว่า ตอนนั้นตัวเองเวียนหัว จะเป็นลมหรือเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ
The post ผลกระทบจากแผ่นดินไหวสู่ชาวไทย (After Earthquake) เหตุการณ์ครั้งนี้ ทิ้งอะไรไว้ให้เราเรียนรู้บ้าง ? appeared first on BT beartai.
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ลึกประมาณ 10 กิโลเมตร โดยมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเวลาประมาณ 13.20 น. และส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงหลายพื้นที่ในประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพฯ สร้างความตื่นตระหนกและสับสนให้กับผู้คน ทำให้หลายคนสงสัยว่า ตอนนั้นตัวเองเวียนหัว จะเป็นลม หรือเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ยังมีรายงานการเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้ง โดยมีความรุนแรงอยู่ระหว่าง 3.1 – 5.5 แม้ว่าความรุนแรงของอาฟเตอร์ช็อกจะค่อย ๆ ลดลง แต่เหตุการณ์นี้ก็สร้างความเสียหายอย่างหนัก หนึ่งในนั้นก็คือเหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่กำลังก่อสร้างเกิดถล่มลงมา ทำให้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่
เหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินถล่ม (ขอบคุณรูปภาพจากกรุงเทพมหานคร)
แผ่นดินไหวครั้งนี้เราเรียนรู้อะไรบ้าง ?
แน่นอนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้คนไทยหลายคนตระหนักถึงความสำคัญของภัยธรรมชาติ มาตรฐานความปลอดภัย และการเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน หลายคนได้เห็นแล้วว่าการเตรียมพร้อมเป็นสิ่งที่สำคัญ
นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่เราควรเรียกร้องให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่ดียิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของโครงสร้างอาคาร ระบบเตือนภัย และแผนรับมือภัยพิบัติ เพื่อให้ทุกคนมีความมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้นในอนาคต
การทำงานของทีมกู้ภัยบริเวณอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (ขอบคุณรูปจากคุณมนจินาถ โกละกะ)
การตระหนักรู้ในเรื่องของภัยธรรมชาติ
แผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่หลายคนอาจไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง จนหลาย ๆ คนคิดไปว่าร่างกายตัวเองเป็นอะไรหรือเปล่านะ ทำไมเวียนหัวแปลก ๆ แต่ไม่ใช่ เพราะตอนนั้นแผ่นดินไหวมันเกิดขึ้นจริง ๆ และกว่าจะรู้ตัวว่าแผ่นดินไหว คนไทยก็คิดว่าตัวเองหน้ามืดไปครึ่งประเทศแล้ว
หลังจากเหตุการณ์นี้ ทำให้เราต้องหันมาใส่ใจและเตรียมตัวให้พร้อมมากขึ้น เราเริ่มรู้แล้วว่าไม่มีที่ไหนปลอดภัย 100% จากภัยธรรมชาติ สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ประมาท และหาความรู้เกี่ยวกับวิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้
หน่วยงานต่าง ๆ ก็ต้องพยายามให้ข้อมูลและจัดกิจกรรมเพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจและเตรียมพร้อมมากขึ้น เช่น การซ้อมอพยพ การเรียนรู้วิธีรับมือเบื้องต้น และการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับแผ่นดินไหว
วิธีการเอาตัวรอดที่เคยเห็นในสื่อประเภท ‘การช่วยชีวิต หรือการเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤต’
เวลาที่เกิดแผ่นดินไหว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเอาตัวรอด และหลายคนคงเคยได้ยินวิธีที่เราควรทำจากหนังสือการ์ตูน หนังสือเรียน หรือแม้กระทั่งจากในหนัง เช่น การหลบใต้โต๊ะที่แข็งแรง หรือไปหาที่โล่งแจ้งที่ไม่มีอันตรายจากสิ่งของที่อาจตกลงมา
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวหลายครั้งที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าคนส่วนใหญ่สามารถควบคุมสติและจัดการตัวเองได้ดี หลายคนเลือกที่จะออกจากตึกสูงอย่างมีระเบียบ เพื่อไปอยู่ในที่โล่งที่ปลอดภัย ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
การที่เรารู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรในช่วงเวลานั้นจึงสำคัญมาก เพราะไม่เพียงแค่ช่วยให้เรารอดจากเหตุการณ์รุนแรง แต่ยังทำให้เรารู้สึกมั่นใจและเตรียมตัวได้ดีมากขึ้น ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริง ๆ
เห็นแบบนี้แล้ว การที่เราเคยเห็นหรือรู้วิธีการเอาตัวรอดจากหนังสือการ์ตูนหรือหนัง มันก็ช่วยให้เราไม่ตื่นตระหนกและรู้ว่าควรทำอะไรในตอนนั้นได้อย่างมีสติ และทำได้โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ก็เป็นผลดีที่เราได้เรียนรู้จากการดูการ์ตูนหรือหนังที่นำเสนอวิธีการเอาตัวรอดในสถานการณ์เหล่านี้ด้วย
หนังสือการ์ตูน ‘เอาชีวิตรอดจากแผ่นดินไหว’
ทำไมบางคนยังคงมีอาการมึนหัวอยู่ ?
หลังจากแผ่นดินไหวผ่านไป หลาย ๆ คนก็ยังคงรู้สึกมึนหัว คล้ายกับว่ายังมีแรงสั่นสะเทือนอยู่ ซึ่งอาการนี้เรียกว่า “โรคสมองเมาแผ่นดินไหว” (Earthquake Drunk) เป็นอาการเวียนศีรษะ รู้สึกเหมือนตัวโคลงเคลงหรือเคลื่อนไหว ทั้งที่ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติแล้ว
สาเหตุเกิดจาก ระบบการทรงตัวในหูชั้นใน (Vestibular System) ที่ถูกรบกวน ทำให้สมองยังรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนแม้จะไม่มีแล้ว อาการนี้มักหายไปเองภายในไม่กี่ชั่วโมง แต่บางคน โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะวิตกกังวลหรือไมเกรน อาจเป็นต่อเนื่องนานหลายวัน หากอาการรุนแรงหรือไม่ดีขึ้น ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลตัวเอง
มาตรฐานตึกที่ดี ?
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นย้ำว่า “มาตรฐานการก่อสร้างอาคารในกรุงเทพมหานครอยู่ในระดับดีมาก เชื่อมั่นได้ ที่เห็นว่ามีการพังเป็นอาคารที่กำลังก่อสร้าง เพราะยังมีความเปราะบางอยู่” การหลบใต้โต๊ะจึงยังคงเป็นวิธีที่แนะนำ เพราะช่วยป้องกันอันตรายจากสิ่งของที่อาจร่วงหล่นลงมา แต่ปัญหาหลักที่ทำให้ผู้คนกังวลกันก็คือ ‘เราไม่รู้ว่าตึกไหนแข็งแรงพอที่จะหลบอยู่ใต้โต๊ะได้จริง ๆ’
เรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยของตึกสูงและคอนโดมิเนียมเป็นประเด็นที่หลายคนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติทุกรูปแบบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มีกระทั่งการลิสต์รายชื่อผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้ หรือรวมคอนโดมิเนียมที่ไม่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้
หรือแม้แต่สระว่ายน้ำบนตึกสูงก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยเวลามีแผ่นดินไหว เพราะแรงสั่นสะเทือนอาจทำให้น้ำกระฉอกออกมาได้ และถ้าไม่มีระบบรองรับที่ดี น้ำที่ไหลทะลักลงไปอาจสร้างอันตรายต่อคนที่อยู่ด้านล่าง ทั้งจากแรงกระแทก และทำให้พื้นเปียก ก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
น้ำที่กระฉอกออกมา อาจสร้างความอันตรายให้แก่ผู้คนด้านล่างได้ (ขอบคุณรูปภาพจากคุณ hotlikedesertcoldlikeblizzard)
ดังนั้น การออกแบบสระว่ายน้ำบนอาคารสูงจึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
มาตรฐานของตึกที่ดีจึงควรมีการออกแบบและสร้างอย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคาร และสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ การตรวจสอบคุณภาพและความพร้อมของอาคารในด้านต่าง ๆ อยู่เสมอ พร้อมมีการรับรองที่เชื่อถือได้ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ที่อยู่อาศัย ว่าไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์เร่งด่วนอะไรขึ้น พวกเขาจะสามารถเอาตัวรอดได้อย่างปลอดภัย
ตึกช้าง ตึกที่ได้รับการชื่นชมว่ามีโครงสร้างที่แข็งแรงสาทร ยูนีค ทาวเวอร์ เป็นอีกหนึ่งตึกที่ได้รับการชื่นชมเช่นกัน ว่าแม้อยู่มานานและไม่มีคนดูแล แต่โครงสร้างยังคงแข็งแรงในเหตุการณ์ครั้งนี้
ระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินที่เราควรได้รับ ?
พูดถึงมาตรฐานตึกแล้ว เราก็ควรมีมาตรฐานระบบแจ้งเตือนที่ดีด้วยเช่นกัน หลายคนอาจยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของ Emergency Alert เพราะคิดว่า ‘เตือนล่วงหน้าไม่ได้ แล้วจะมีไปทำไม ?’ แต่จริง ๆ แล้ว การเตือนให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ณ ขณะนั้น มีประโยชน์อย่างมาก แม้จะเป็นแค่ไม่กี่วินาทีหรือไม่กี่นาที แต่มันช่วยให้เราตัดสินใจได้เร็วขึ้น ลดความสับสน และปรับตัวกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที
หลายประเทศที่ต้องรับมือกับภัยพิบัติบ่อย ๆ อย่างญี่ปุ่น, สหรัฐ ฯ หรือเกาหลีใต้ ก็ใช้ระบบ Cell Broadcast กันหมดแล้ว เพราะมันเร็ว แม่นยำ และทำให้คนรู้ตัวทันทีว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ต่างจาก SMS ที่อาจจะมาช้าหรือไม่มาถึงเลย ถ้าไทยอยากพัฒนาระบบแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพจริง ๆ ก็ควรผลักดันให้ Cell Broadcast เป็นมาตรฐานใหม่แทน
บทเรียนสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจและเตรียมตัวมากขึ้น
ภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหวอาจดูเหมือนไกลตัวสำหรับคนไทย แต่เมื่อเกิดขึ้นจริง หลายคนกลับไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เพราะขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของอาคาร รวมถึงวิธีรับมือที่ถูกต้อง
สิ่งสำคัญคือเราต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานอาคาร ระบบแจ้งเตือนฉุกเฉิน เพราะแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ไม่ใช่แค่การหลบใต้โต๊ะเท่านั้น แต่รวมถึงการออกแบบโครงสร้างให้ปลอดภัย เช่น ระบบรองรับแรงสั่นสะเทือน สระว่ายน้ำบนตึกสูงที่ต้องมีการจัดการน้ำอย่างเหมาะสม และระบบแจ้งเตือนอย่าง Cell Broadcast ที่สามารถส่งสัญญาณเตือนได้รวดเร็วและทั่วถึง
สุดท้ายแล้ว ความพร้อมและความรู้ คือสิ่งที่ช่วยให้เรารับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้ดีที่สุด เพราะภัยพิบัติอาจมาเมื่อไหร่ก็ได้ และเมื่อถึงเวลานั้น การตัดสินใจเพียงไม่กี่วินาที อาจเป็นวินาทีที่ตัดสินความเป็นความตายที่ช่วยให้เรารอดชีวิตเลยก็ได้
The post ผลกระทบจากแผ่นดินไหวสู่ชาวไทย (After Earthquake) เหตุการณ์ครั้งนี้ ทิ้งอะไรไว้ให้เราเรียนรู้บ้าง ? appeared first on BT beartai.
Credit ข่าวจาก : www.beartai.com/