นับตั้งแต่เปิดตัว ChatGPT สู่โลกออนไลน์ในปี 2021 AI เชิงสังเคราะห์ (Generative AI) ได้กลายเป็นเสมือน Google แห่งยุคใหม่ที่เข้ามาช่วยการทำงานให้ง่ายขึ้น
The post ส่อง 5 พรอมต์ GenAI ช่วยเสริมการทำงานให้ดียิ่งขึ้น appeared first on BT beartai.
นับตั้งแต่เปิดตัว ChatGPT สู่โลกออนไลน์ในปี 2021 AI เชิงสังเคราะห์ (Generative AI) ได้กลายเป็นเสมือน Google แห่งยุคใหม่ที่เข้ามาช่วยการทำงานให้ง่ายขึ้น
แม้ว่าหลายคนจะยังระแวงว่า AI จะมาแย่งงานมนุษย์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั่วโลกได้นำ AI มาใช้ในหลายรูปแบบ ข้อมูลจาก McKinsey พบว่าการนำ AI มาใช้ในธุรกิจทั่วโลกในปีที่ผ่านมา (2023) มากถึง 72% เพิ่มขึ้นมาจากปีก่อนหน้าที่อยู่ราว ๆ 50%
คนทั่วโลกยังเริ่มยอมรับถึงประโยชน์ของ AI ในการทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย ผลการสำรวจของ Reuters ที่ออกมาในปีนี้ (2024) ที่สำรวจความคิดเห็นคนทำงาน 2,205 คนทั่วโลกทุกเพศทุกวัยจากทุกภาคส่วน (ส่วนใหญ่มาจากเจเนอร์เรชัน X และ Y) พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่าในอีก 5 ปีงานกว่า 56% จะใช้ประโยชน์จาก AI ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในจำนวนนี้ 17% ยังเชื่อด้วยว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้ AI จะเข้ามาช่วยยกระดับการทำงานได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่ต้องพึ่งมนุษย์ในการตรวจทานความถูกต้องอีกต่อไป
ในบทความนี้จะแนะนำพรอมต์ที่ช่วยงานของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้นใน GenAI หลายตัวที่มีจุดเด่นแตกต่างกัน มาดูกันว่า 5 พรอมต์ (Prompt คำสั่งที่ใช้ป้อนเวลาคุยกับ AI) ที่จะช่วยให้ผู้ใช้ทำงานให้ดีขึ้นไปอีกระดับมีอะไรบ้าง
ช่วยคิดงาน
นี่น่าจะเป็นหนึ่งในพรอมต์ที่คนใช้มากที่สุด มีตั้งแต่ช่วยเขียนการบ้านส่งครูไปจนถึงช่วยออกกฎหมายจนผ่านสภามาแล้วก็มีให้เห็นกันมาแล้ว ซึ่งจริง ๆ แล้วพรอมต์รูปแบบมีลูกเล่นเยอะมาก ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละแอป
เริ่มที่ตัวอย่างพรอมต์ “ช่วยเขียนอีเมลลูกค้าให้หน่อย” ผู้ใช้สามารถเพิ่มรายละเอียดของคำขอเพื่อให้ตรงตามความต้องการที่มากขึ้น เช่น องค์กรลูกค้า ข้อมูลที่อยากให้บอกในอีเมล และความยาว เป็นต้น หรือจะเป็นพรอมต์ที่ช่วยออกไอเดียในการเขียนอย่าง “จะเขียนอีเมลลูกค้า [ระบุข้อมูลลูกค้า และเป้าหมายของอีเมล] ต้องใส่ข้อมูลอะไรบ้าง” ก็ย่อมได้
ตัวอย่างการเขียนโครงการโดย Gemini
ไม่เพียงแต่การเขียนอีเมล GenAI ยังสามารถช่วยในการเขียนงานในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ รายงานการประชุม ข้อเสนอโครงการ ไปจนถึงแผนธุรกิจเลยทีเดียว
ช่วยทำให้งานเขียนดีขึ้น
นอกจาก จะช่วยเขียนงานได้แล้ว GenAI ยังสามารถช่วยพัฒนางานเขียนให้ดียิ่งขึ้นได้ด้วย สำหรับคนที่ไม่อยากจะพึ่งพา AI ในการทำงานทั้งหมด เพราะยังอยากจะมีงานที่เป็นของตัวเองอยู่
ตัวอย่างพรอมต์ขอให้ช่วยพัฒนางานบน ChatGPT 40 Mini
หากใช้ ChatGPT ก็สามารถป้อนพรอมต์ว่า “จะเขียนงานต่อไปนี้ให้ดีขึ้นได้อย่างไร” จากนั้นก็แปะงานเขียนที่ต้องการให้ช่วย ซึ่ง ChatGPT จะทำการเรียบเรียงงานเขียนของผู้ใช้ใหม่ พร้อมทั้งแนะนำวิธีการปรับปรุงงานเขียนให้ดีขึ้นด้วย
ตัวอย่างคำตอบใน Gemini
หรือถ้าใช้พรอมต์เดียวกันนี้ใน Gemini จะมีการแนะนำด้วยว่าควรจะเขียนคำขอให้ช่วยในแนวไหน และวางโครงสร้างการเขียนอย่างไร รวมถึงตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ใช้เขียนก็ยังได้
ย่อยข้อมูล
เวลาที่จะต้องเขียนงานอะไรสักอย่างนึง หลายครั้งก็ต้องศึกษาข้อมูลจำนวนมหาศาล ที่แต่ละชิ้นก็ต้องใช้เวลาจำนวนมากในการอ่าน ทำความเข้าใจ กว่าจะสรุปออกมาได้ชิ้นงานนึงก็คงเหนื่อยไม่ใช่น้อย GenAI เข้ามาช่วยตรงนี้ได้อย่างง่ายดายด้วยพรอมต์ง่าย ๆ ว่า “สรุปเนื้อหาเว็บไซต์/หนังสือ/ไฟล์”
อย่างที่เห็นด้านบนเป็นการป้อนพรอมต์ช่วยสรุปเนื้อหาของหนังสือ Sapiens ของ Yuval Noah Harari (ชื่อไทย: เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ) โดย ChatGPT
Copilot สรุปบทความ Sapiens: A Brief History of Humankind by Yuval Noah Harari – review ของสำนักข่าว The Guardian
หากเป็นส่วนเสริม Copilot ของเว็บเบราว์เซอร์จะสามารถสรุปเนื้อหาของเว็บเพจที่เปิดอยู่ได้เลย โดยไม่ต้องกรอกเนื้อหาของสิ่งที่อยากจะให้สรุป แต่ก็สามารถระบุรายละเอียดแบบเฉพาะเจาะจง เช่นว่าอยากจะให้สรุปอะไร ความยาวเท่าไหร่ เป็นต้น หากเป็นหน้าโซเชียลมีเดีย นอกจาก Copilot จะสรุปเนื้อหาของโพสต์แล้ว ยังมีการสรุปความเห็นของคนที่เข้ามาคอมเมนต์ด้วย
นอกจากนี้ Claude และ Perplexity ยังสามารถย่อยข้อมูลจากไฟล์หลายร้อยหน้าแล้วสรุปมาเป็นข้อมูลตามที่ผู้ใช้อยากรู้ได้ง่าย ๆ โดยใช้เวลาเพียงไม่นาน ไม่ว่าจะเป็นรายงานวิจัย วารสารตีพิมพ์ หรือแม้แต่หนังสือทั้งเล่มก็ยังได้ เพียงแค่อัปโหลดไฟล์แล้วป้อนพรอมต์ที่ต้องการอย่าง “อะไรคือบทสรุปของไฟล์นี้” หรือ “ช่วยสรุปให้ที” ก็ได้หมดเลย
ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถขอคำแนะนำแหล่งข้อมูลที่ควรไปค้นหาก็ยังได้ด้วย เช่น “อยากจะเขียนงานเรื่องนี้ [ชื่อเรื่อง] ช่วยแนะนำแหล่งและลักษณะข้อมูลให้หน่อย”
วางแผนทำงาน
GenAI ยังสามารถช่วยในการวางแผนการทำงานได้ด้วย ตั้งแต่การจัดความสำคัญของการทำงาน เป้าหมายที่ควรทำ แนวคิดเกี่ยวกับโครงการใหม่ หรือแม้แต่วาง Workflow ในการทำงานโดยอ้างอิงจากงานที่มีอยู่เดิมก็ได้
ตัวอย่างพรอมต์ที่น่าสนใจเช่น “ช่วยจัดความสำคัญงานให้หน่อย” พร้อมทั้งป้อนงานที่ต้องทำในช่วงเวลานั้น ๆ เข้าไปตัวอย่างเช่น “ช่วยจัดความสำคัญงานที่ต้องทำวันนี้ให้หน่อย สิ่งที่ต้องทำวันนี้คือ ประชุมตอนบ่าย 2 โทรหาลูกค้าภายในบ่ายโมงครึ่ง ตอบอีเมลลูกค้า และทำเอกสารให้เสร็จภายใน 6 โมง”
พรอมต์นี้นอกจากจะช่วยทำให้จัดระเบียบการทำงานให้ง่ายขึ้นแล้ว ในแชตบอต GenAI หลายตัวอย่าง ChatGPT และ Perplexity ยังช่วยบอกเหตุผลว่าทำไมงานไหนต้องทำก่อน – หลัง เพื่อให้ง่ายกับการทำงานลักษณะเดียวกันในอนาคตได้ด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น Gemini ของ Google ยังจะช่วยทำเป็นตาราง Google Sheets ที่ Export ไปเป็นไฟล์ Excel ได้ด้วย หรืออย่างใน Claude ผู้ใช้ยังสามารถป้อนพรอมต์ให้เรียบเรียงข้อมูลการจัดลำดับความสำคัญในการทำงานเป็นข้อมูลเชิงภาพในรูปแบบต่าง ๆ ได้ด้วยไม่ว่าจะเป็นตาราง หรือแผนภูมิ ก็ตาม
นอกจากการช่วยวางแผนการทำงานในระยะสั้นแล้ว ยังสามารถป้อนพรอมต์ที่จะช่วยคิดแนวทางการทำงานในระยะยาวเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ การตัดสินใจโดยคำนึงถึงโอกาสและอุปสรรค หรือจัดระเบียบอีเมลและข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้การวางแผนทำงานดีขึ้นได้ด้วย
แนะนำตัวช่วยการทำงาน
นี่อาจจะเป็นพรอมต์สำหรับคนที่ไม่อยากพึ่ง GenAI จนเกินไป แต่ก็ยังอยากได้คน (?) มาช่วยคิดหรือหาตัวช่วยในการทำงานให้มันง่ายกว่านี้ อย่างเช่นการช่วยหากลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่มีอยู่แล้วแต่ไม่รู้จัก หรือแม้แต่ตัวช่วยทางเทคโนโลยี (ที่ไม่ใช่ AI) มาเสริม
พรอมต์ “แนะนำ 3 กลยุทธ์ช่วยทำงาน” บน Perplexity
ตัวอย่างของพรอมต์ก็คือ “แนะนำ 3 กลยุทธ์ที่มีงานวิจัยรองรับที่ช่วยทำให้งานเสร็จเร็วขึ้นและประสิทธิภาพดีขึ้นด้วย” เมื่อป้อนลงไปใน Perplexity หรือ Copilot นอกจากจะแนะนำตัวช่วยต่าง ๆ แล้ว ยังมีลิงก์ที่มาข้อมูลแนบไว้ให้ด้วย สำหรับผู้ที่ไม่มั่นใจว่าคำตอบที่ได้รับมาจะถูกต้อง หรือมั่วขึ้นมาเอง
นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถถามลึกลงไปอีกก็ได้ว่าแต่ละวิธีที่แนะนำมานั้น จะเอาไปใช้กับการทำงานจริง ๆ อย่างไรได้บ้าง อย่างเช่น “จะเอา Pomodoro Technique ไปใช้ทำงาน [ระบุงานที่ทำอยู่] ได้อย่างไร”
คำตอบของ Perplexity ที่แนะนำแอปช่วยทำงานต่าง ๆ
หรือที่ง่ายไปกว่านั้น เชื่อว่าหลายคนก็คงเคยใช้ ด้วยพรอมต์อย่าง “แนะนำ 5 แอปช่วยทำงานให้หน่อย” เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับแอปที่จะช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น หรือจะถามเกี่ยวกับสูตรใน Excel ที่เหมาะกับข้อมูลที่ทำอยู่ พร้อมตัวอย่างก็ได้
GenAI ยังไม่สมบูรณ์แบบ
อย่างไรก็ดี การใช้ GenAI ก็ยังต้องมาพร้อมกับความรู้เท่าทัน อย่างการที่ต้องคอยตรวจคำตอบที่ให้มา เพราะหลายครั้ง GenAI ก็ยังเกิดอาการหลอน (Hallucinate) ถึงแม้จะว่าปัจจุบันจะดีขึ้นมากแล้วก็ตาม และก็ต้องระมัดระวังไม่ใส่ข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป เพราะอย่าลืมว่า GenAI มาถึงจุดนี้ได้ก็มาจากการเรียนรู้ข้อมูลที่คนสร้างขึ้น
ท้ายที่สุดแล้ว นี่เป็นเพียงตัวอย่างของพรอมต์และเศษเสี้ยวขีดความสามารถของ GenAI เท่านั้น อีกทั้งเทคโนโลยีที่พัฒนาการอย่างรวดเร็วขนาดนี้ ก็คงมีศักยภาพการทำงานที่ดึขึ้นเรื่อย ๆ อย่างดาดไม่ถึงในเร็ววันแน่นอน
The post ส่อง 5 พรอมต์ GenAI ช่วยเสริมการทำงานให้ดียิ่งขึ้น appeared first on BT beartai.
Credit ข่าวจาก : www.beartai.com/