ข่าวใหญ่วันนี้คงจะไม่พ้นการที่ ปาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) ผู้ก่อตั้ง Telegram ถูกตำรวจฝรั่งจับกุม ในสนามบินปารีส เลอบูเกต์ ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงปารีส
The post Pavel Durov แห่ง Telegram เป็นใคร ทำไมถึงถูกฝรั่งเศสจับกุม appeared first on BT beartai.
ข่าวใหญ่วันนี้คงจะไม่พ้นการที่ ปาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) ผู้ก่อตั้ง Telegram ถูกตำรวจฝรั่งจับกุม ในสนามบินปารีส เลอบูเกต์ ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงปารีส
แต่การที่จะเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้มาถึงจุดนี้ ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจทั้งตัวดูรอฟ และ Telegram ผลงานชิ้นเอกที่เขาสร้างขึ้นมา
ทำไมถึงถูกจับ
สำนักข่าว TF1 ของฝรั่งเศส และ AP รายงานว่า การจับกุมดูรอฟเกิดขึ้นหลังจากที่เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวซึ่งเดินทางมาจากนครบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ลงจอดในสนามบินเลอบูเกต์ เพียงไม่นาน และเนื่องจากดูรอฟถือพาสปอร์ตสัญชาติรัสเซีย ทำให้สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียต้องรีบเข้าชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยด่วน
สำนักข่าว CBS ชี้ว่าดูรอฟมีชื่อตามหมายจับของหน่วยงานในฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า OFMIN ซึ่งมีหน้าที่ในการป้องกันความรุนแรงต่อผู้เยาว์ การออกหมายจับในครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น และเป็นส่วนหนึ่งในการสื่บสวนในขั้นต้นกรณีมีการกล่าวหาว่ามีการก่ออาชญากรรมในหลายรูปแบบโดยใช้ Telegram เป็นเครื่องมือ ทั้งการฉ้อโกง การลักลอบขนยาเสพติด การรังแกทางไซเบอร์ การก่ออาชญากรรมในลักษณะองค์กรอาชญากรรม และการส่งเสริมการก่อการร้าย
หนึ่งในแหล่งข่าวระบุกับทางสำนักข่าว TF1 ว่าสาเหตุที่ต้องออกหมายจับตัวดูรอฟเป็นเพราะการที่ Telegram ไม่มีผู้ดูแลระบบ หรือโมเดอร์เรเตอร์ที่ทำหน้าที่คอยตรวจสอบและคัดครองเนื้อหาในแพลตฟอร์มเหมือนโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ดูรอฟจึงอาจมีความผิดในฐานที่ไม่ยอมออกมาตรการเพื่อป้องกันการใช้ Telegram ในการก่ออาชญากรรม
พนักงานสืบสวนของคดีนี้ถึงกับบอกว่าจะไม่ยอมให้ Telegram ลอยนวลอีกต่อไป แต่อีกใจหนึ่งก็ประหลาดใจที่ดูรอฟเดินทางมาปารีสเอง แม้จะรู้ว่ามีหมายจับตัวเอง
ดูดอฟเป็นใคร
ดูรอฟเกิดในรัสเซียเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 1984 ก่อตั้ง Telegram ร่วมกับน้องชายเมื่อปี 2013 เป้าหมายหลักคือการสร้างโซเชียลมีเดียที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว ตั้งเป้าว่าจะมียอดผู้ใช้ทะลุ 1,000 ล้านคนภายใน 1 ปี
ตัวดูรอฟมีประวัติไม่ค่อยจะลงรอยกับรัฐบาลรัสเซียนัก โดยในปี 2014 เขาต้องเดินทางออกนอกรัสเซีย หลังจากที่ไม่ยอมทำตามคำสั่งของรัฐบาลที่ให้ปิดกลุ่มคอมมิวนิตี้ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในแอป VKontakte หรือ VK ซึ่งเป็นอีกแอปที่เขาสร้างขึ้น ก่อนจะถูกบังคับขาย VK ให้กับธุรกิจรายอื่นในเวลาต่อมา
ในปี 2017 เขาได้ย้ายตัวเองและเซิร์ฟเวอร์ของ Telegram ไปที่นครดูไบ และได้รับสัญชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในช่วงเวลาเดียวกัน ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2021 ดูรอฟได้รับสัญชาติฝรั่งเศส เขาเคยลองไปหลายที่ตั้งบริษัททั้งในกรุงเบอร์ลิน กรุงลอนดอน ในสิงคโปร์ และนครซานฟรานซิสโก
หนึ่งในวาทะที่บอกตัวตนของดูรอฟได้อย่างชัดเจนก็คือ “ผมเลือกจะเป็นอิสระมากกว่าจะรับคำสั่งจากใคร” ซึ่งเป็นคำพูดที่เขากล่าวกับ ทักเคอร์ คาร์ลสัน (Tucker Carlson) ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไมเขาและ Telegram ถึงต้องย้ายออกนอกรัสเซีย
ดูรอฟบอกว่าตัวเองยึดมั่นในความเป็นส่วนตัวมาก เขาบอกว่าเราไม่สามารถสร้างข้อยกเว้นให้กับหน่วยงานของรัฐโดยที่ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้คนหลายร้อยล้านคนได้ เพราะการเข้ารหัสมีแค่ว่าปลอดภัยกับไม่ปลอดภัยเท่านั้น ไม่มีตรงกลาง
เว็บไซต์ Forbes ประเมินว่าดูรอฟมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 15,500 ล้านเหรียญ (ราว 525,713 ล้านบาท) ติดอันดับ 1 ใน 300 ของมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในโลก
รู้จักกับ Telegram
งั้นมาทำความรู้จักกับ Telegram กันบ้าง แอปตัวนี้เป็นแอปสนทนา คล้ายกับ WhatsApp และ Line ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในรัสเซีย ยูเครน และประเทศอดีตสหภาพโซเวี่ยต รวมถึงประเทศอื่น ๆ ด้วย
Telegram ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ในแอปที่ได้รับความนิยมสูง ไม่แพ้ Facebook, YouTube, WhatsApp, Instagram, TikTok และ Wechat ที่ครองตลาด โดยข้อมูลจากเดือนเมษายนที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ใช้ Telegram ในปัจจุบันมากถึง 900 ล้านคน ถือว่าเป็นอันดับ 8 ของโซเชียลมีเดียทั้งหมด
หน้าตาของ Telegram
Telegram ได้รับการออกแบบมาเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และไม่ยอมให้รัฐบาลของประเทศใดเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ได้เลย ในช่วงเวลาหนึ่งจึงเป็นที่นิยมของนักข่าว ผู้ที่ต่อต้านรัฐบาล หรือแม้แต่กลุ่มก่อการร้าย ในการสื่อสารระหว่างกัน
Telegram เคยถูกรัฐบาลรัสเซียแบนในปี 2018 ด้วยเหตุผลที่ว่าดูรอฟไม่ยอมส่งข้อมูลผู้ใช้ให้ตามคำสั่งศาลที่บังคับให้ Telegram ยอมให้การเข้าถึงข้อมูลกับทางสำนักงานความมั่นคงแห่งรัฐ นำไปสู่การประท้วงใหญ่ที่ชื่อว่า ‘การประท้วงจรวดกระดาษ’ (สัญลักษณ์ของ Telegram) จนรัสเซียยอมยกเลิกการแบนในปี 2021
ความนิยมที่ Telegram ได้รับมาขึ้นก็นำมาซึ่งการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากหลายประเทศในยุโรปเกี่ยวกับเรื่องของความปลอดภัยและการรั่วไหลของข้อมูล จนเกิดการพูดคุยกันระหว่างสหภาพยุโรปกับ Telegram เพื่่อให้แพลตฟอร์มพิจารณาการทำตามกฎหมายดิจิทัลของยุโรป
นอกจากนี้ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการรุกรานจากรัสเซียตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 เป็นต้นมา Telegram กลายเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับสงคราม นอกจากนี้ ตัวมันเองยังเป็นที่นิยมของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งของรัสเซียและยูเครน กองทัพไซเบอร์ของยูเครนเองก็ใช้ Telegram เพื่อติดต่อสื่อสารและวางแผนกัน นักวิเคราะห์ถึงกับบอกว่า Telegram เป็นเสมือนกับ ‘สมรภูมิเวอร์ชวล’ (Virtual Battlefield) เลยทีเดียว
จะเป็นยังไงต่อ
เรื่องความเป็นส่วนตัวและอำนาจต่อรองของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียถือเป็นประเด็นที่ใหญ่มากของสหภาพยุโรป เนื่องจากมองว่าการที่มีบริษัทที่เป็นเจ้าของข้อมูลชาวประชาชนจำนวนมากโดยขาดการตรวจสอบและคัดกรองจากรัฐจะเป็นสิ่งที่เป็นภัยต่อยุโรปทั้งหมด
อย่างไรก็ดี การที Telegram ไม่มีการคัดกรองนี่แหละเป็นจุดเด่นที่่ทำให้ตัวมันได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะทำให้เกิดความเป็นส่วนตัวมาก ๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครหรือรัฐบาลไหนมาแอบดูเนื้อหา ฝ่ายต่อต้านและประชาชนสามารถมีเสรีภาพได้เต็มที่ การพรากความเป็นส่วนตัวออกจาก Telegram ก็อาจพรากเอาเสน่ห์ของมันออกไปก็เป็นได้
ทั้งนี้ คาดว่าดูรอฟจะต้องไปขึ้นศาลภายในวันนี้ (ตามเวลาท้องถิ่นของฝรั่งเศส)
The post Pavel Durov แห่ง Telegram เป็นใคร ทำไมถึงถูกฝรั่งเศสจับกุม appeared first on BT beartai.
Credit ข่าวจาก : www.beartai.com/