พวกพ้อง เป้าหมาย และการเติบโต หนึ่งในคีย์สำคัญที่ทำให้การ์ตูนกีฬา เป็นสื่อบันเทิงที่ดึงดูดผู้คนมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ เพราะการปลูกฝังความพยายาม เพื่อไปสู่ก้าวฝันอันยิ่งใหญ่นั้น ทำให้เด็กหลายคนที่ดูการ์ตูนกีฬา เติบโตมาพร้อมเฝ้าฝันว่าจะเป็นนักกีฬาดังเช่นในการ์ตูนที่พวกเขาชอบ โดยเฉพาะฟุตบอล แม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จะมีการ์ตูนฟุตบอลหลายเรื่องที่พยายามจะชิงพื้นที่ในใจของเด็ก ๆ มากกว่าหลายสิบเรื่อง (ใช่การ์ตูนฟุตบอลมันมีเยอะมากจริง ๆ) แต่เมื่อดูกันจริง ๆ กลับก็มีแค่ไม่กี่เรื่องเท่านั้น ที่สามารถเป็นที่จดจำของเด็ก ๆ ได้ ซึ่งหากเราไปถามเด็กยุคก่อนปี 2000 ว่าการ์ตูนฟุตบอลในใจพวกเขาคืออะไร แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้น ‘Captain Tsubasa’ ที่ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้เด็กมากมาย ใฝ่ฝันมาเป็นนักฟุตบอล นอกจากนั้นหากเราไปถามเด็กยุคต้นปี 2000 ขึ้นไปว่าการ์ตูนฟุตบอลที่เขาจดจำกันคือเรื่องอะไร แน่นอนว่าจะต้องมีนักเตะแข้งสายฟ้า หรือ ‘Inazuma Eleven’ โผล่มาร่วมรายชื่อการ์ตูนฟุตบอลในดวงใจอย่างแน่นอน ซึ่งแม้ว่านักเตะแข้งสายฟ้าจะถูกจดจำในแง่ภาพลักษณ์ของการทำให้เด็กนั้นมีอาการเบียวท่าไม้ตายฟุตบอล มากกว่าอยากจะเป็นนักฟุตบอลจริง ๆ ก็ตาม แต่เชื่อเลยว่าเด็ก ๆ Gen Z และ Gen Y ขึ้นไปนั้น ส่วนใหญ่มักจะจดจำการ์ตูนฟุตบอลอยู่เพียง 2 เรื่องนี้ มีการ์ตูนฟุตบอลอยู่หลายสิบเรื่อง แต่ทำไมถึงเป็นที่จดจำไม่กี่เรื่องกันนะ…
The post ถอดรหัสคุกสีน้ำเงิน อะไรที่ทำให้ ‘BLUE LOCK’ กลายเป็นสุดยอดการ์ตูนฟุตบอลยุคใหม่ appeared first on BT beartai.
พวกพ้อง เป้าหมาย และการเติบโต
BLUE LOCK
หนึ่งในคีย์สำคัญที่ทำให้การ์ตูนกีฬา เป็นสื่อบันเทิงที่ดึงดูดผู้คนมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ เพราะการปลูกฝังความพยายาม เพื่อไปสู่ก้าวฝันอันยิ่งใหญ่นั้น ทำให้เด็กหลายคนที่ดูการ์ตูนกีฬา เติบโตมาพร้อมเฝ้าฝันว่าจะเป็นนักกีฬาดังเช่นในการ์ตูนที่พวกเขาชอบ โดยเฉพาะฟุตบอล
แม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จะมีการ์ตูนฟุตบอลหลายเรื่องที่พยายามจะชิงพื้นที่ในใจของเด็ก ๆ มากกว่าหลายสิบเรื่อง (ใช่การ์ตูนฟุตบอลมันมีเยอะมากจริง ๆ) แต่เมื่อดูกันจริง ๆ กลับก็มีแค่ไม่กี่เรื่องเท่านั้น ที่สามารถเป็นที่จดจำของเด็ก ๆ ได้ ซึ่งหากเราไปถามเด็กยุคก่อนปี 2000 ว่าการ์ตูนฟุตบอลในใจพวกเขาคืออะไร แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้น ‘Captain Tsubasa’ ที่ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้เด็กมากมาย ใฝ่ฝันมาเป็นนักฟุตบอล
Captain Tsubasa
นอกจากนั้นหากเราไปถามเด็กยุคต้นปี 2000 ขึ้นไปว่าการ์ตูนฟุตบอลที่เขาจดจำกันคือเรื่องอะไร แน่นอนว่าจะต้องมีนักเตะแข้งสายฟ้า หรือ ‘Inazuma Eleven’ โผล่มาร่วมรายชื่อการ์ตูนฟุตบอลในดวงใจอย่างแน่นอน ซึ่งแม้ว่านักเตะแข้งสายฟ้าจะถูกจดจำในแง่ภาพลักษณ์ของการทำให้เด็กนั้นมีอาการเบียวท่าไม้ตายฟุตบอล มากกว่าอยากจะเป็นนักฟุตบอลจริง ๆ ก็ตาม แต่เชื่อเลยว่าเด็ก ๆ Gen Z และ Gen Y ขึ้นไปนั้น ส่วนใหญ่มักจะจดจำการ์ตูนฟุตบอลอยู่เพียง 2 เรื่องนี้
มีการ์ตูนฟุตบอลอยู่หลายสิบเรื่อง แต่ทำไมถึงเป็นที่จดจำไม่กี่เรื่องกันนะ
Inazuma Eleven
ถ้าพูดกันตามตรง ฟุตบอลเป็นกีฬาที่เป็นที่นิยมกันทั่วโลกอยู่แล้ว เพราะเรารู้ว่ากติกาว่าเล่นกันอย่างไร ผู้คนเข้าใจเสน่ห์ของมันโดยไม่ต้องมีอภินิหารใด ๆ มาผสม ดังนั้นแล้วหากเนื้อหาของการ์ตูนมันไม่มีอะไรเลย การจะครองใจคนจึงยาก เพราะเอาเข้าจริง ถ้าอยากได้แรงบันดาลใจ สู้ไปนั่งอ่านชีวประวัตินักกีฬาจริง อาจจะได้ความฮึกเหิมมากกว่าเสียอีก
เมื่อสตอรี่ของการ์ตูนฟุตบอลนั้นสร้างความโดดเด่นได้ยาก ดังนั้นแล้วการ์ตูนฟุตบอลหลายเรื่องจึงสร้างจุดเด่นให้ตัวละครมากมาย มีท่าไม้ตายที่น่าจดจำ และถ้าอยากดังขึ้นก็ยิ่งต้องใส่ความเวอร์วังเข้าไปอีก ซึ่งก็เพื่อให้คนจดจำท่าไม้ตายได้พอ ๆ กับตัวละครนั่นเอง (ยกตัวอย่างเคสของ ‘Inazuma Eleven’ ที่ในตอนนั้นช่อง 9 กับ Gangcartoon ก็ฉายเรื่องนี้ในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่เด็ก ๆ ก็สามารถจำชื่อท่าไม้ตายได้ แม้จะแปลต่างกันก็ตาม จนมีมุกตลกในเหล่าแฟนคลับชาวไทยเลยว่า หากคุณเรียกชื่อท่าไม้ตายด้วยภาษาไทย แปลว่าเด็กคนนั้นดูผ่านช่อง 9 แต่หากเรียกชื่อท่าไม้ตายด้วยชื่ออังกฤษ นั่นแปลว่าเด็กคนนั้นดู Gangcartoon มา) ซึ่งการกระจายบทก็สำคัญ เพราะแค่ฝั่งตัวเอกก็ปาไปมากกว่า 10 คนแล้ว พอแข่งทีนึง ตัวละครก็มีตั้ง 20 กว่าตัว จึงทำให้กระจายบทได้ยาก และคนไม่ค่อยเอาใจช่วยตัวรองมากนัก ซึ่งทำให้การ์ตูนฟุตบอลครองใจคนได้ยากขึ้นไปอีก
จะเห็นได้ว่าทั้งสำนักพิมพ์ และสตูดิโออนิเมะจึงเลือกที่จะโฟกัสกับการ์ตูนชนิดอื่น เพื่อสร้างความแตกต่างไปเลย เพราะสามารถกระจายบทได้ง่าย แถมปั้นให้เป็นที่รู้จักได้โดยไม่ต้องถูกเปรียบเทียบ ซึ่งถ้าหากไม่นับฟุตบอลแล้ว การ์ตูนกีฬาชนิดอื่น ที่มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่นก็จะมี การ์ตูนที่พาเราไปหวดลูกสักหลาดสุดเท่อย่าง ‘The Prince of Tennis’, โบยบินพร้อมลูกวอลเลย์บอลไปกับ ‘Haikyu!!’, แข่งขันว่ายน้ำไปกับ ‘Free!’, ถีบจักรยานไปกับ ‘Yowamushi Pedal’, นักบาสพลังกาวอย่างแก๊ง ‘Kuroko no Basket’ หรือแม้แต่สเกตน้ำแข็งก็มี ‘Yuri on Ice‘ ซึ่งจุดร่วมหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดคือ การ์ตูนกีฬายุคใหม่ ไม่ได้โด่งดังด้วยเพียงเนื้อเรื่อง พลังมิตรภาพ และท่าไม้ตายอย่างเดียว แต่ยังมีการสอดแทรกเคมีการขายจิ้นของตัวละคร เพื่อดึงดูดกลุ่มสาว ๆ ให้มาสนับสนุนมากขึ้น และมันก็ทำให้การ์ตูนกีฬา เข้าไปครองใจคนดูมากกว่าเดิม
Haikyu!!
แม้ว่าแต่ละปี จะมีการ์ตูนกีฬาที่ครองใจคนสลับหมุนเวียนกันไป แต่เราจะพบว่ากีฬาฟุตบอลที่คนทั่วโลกฮิตกันนั้น กลับแทบไม่มีตัวชูโรงที่จะทำให้คนหันกลับมาพูดถึงเลย จนกระทั่งการมาของ ‘BLUE LOCK’ นี่แหละ
ในปี 2023 เกิดปรากฏการณ์ฟุตบอลฟีเวอร์ขึ้น ซึ่งการ์ตูนกีฬาจากนิตยสารโชเน็นแม็กกาซีน ทำยอดขายได้สูงกว่าของการ์ตูนจากนิตยสารโนเน็นจัมป์ เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยเรื่องที่สามารถพาตัวเองไต่ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งได้ก็คือการ์ตูนฟุตบอลอย่าง ‘BLUE LOCK’’ นั่นเอง
เรียกได้ว่า แม้ ‘BLUE LOCK’ จะไต่มาอย่างเงียบ ๆ แต่ก็สามารถคว่ำแชมป์อย่าง ‘Jujutsu Kaisen’ ไปได้ จนเกิดแรงกระเพื่อมมหาศาล ซึ่งส่งให้ ‘BLUE LOCK’ ขึ้นแท่นเป็นตัวแทนของการ์ตูนฟุตบอลยุคใหม่ในทันที
อะไรที่ทำให้ ‘BLUE LOCK’ แตกต่างจากการ์ตูนกีฬาเรื่องอื่น
BLUE LOCK
แม้ว่า ‘Captain Tsubasa’ และ ‘Inazuma Eleven’ จะสร้างบรรทัดฐานด้วยการผสมผสานแอ็กชันกีฬาที่น่าตื่นเต้นกับตัวละครที่น่าสนใจออกมาก็จริง อย่างไรก็ตาม ‘BLUE LOCK’ ซึ่งเป็นการ์ตูนที่เพิ่งเพิ่มเข้ามาในกลุ่มการ์ตูนฟุตบอลนั้น ก็สามารถพาตัวเองไปเทียบเคียงการ์ตูนฟุตบอลยุคก่อนได้อย่างรวดเร็ว แล้วอะไรกันนะที่ทำให้ ‘BLUE LOCK’ แตกต่างจากการ์ตูนกีฬาเรื่องอื่น
ปัญหาใหญ่ที่สุดของผมคือการสร้างตัวละครที่ใช้ชีวิตเพื่อ ‘คนอื่น’ แต่ตัวผมดันไม่ใช่คนประเภทนั้น ผมจึงมองเห็นแรงจูงใจเบื้องหลังของการเสียสละ นั่นคือผู้คนมักคิดว่า ‘ตัวเองนั้นยอดเยี่ยม เพราะเสียสละให้คนอื่น’
— มูเนยูกิ คาเนชิโร ผู้เขียน ‘BLUE LOCK’
ต้องกล่าวก่อนว่า ‘BLUE LOCK’ นั้น เป็นการ์ตูนฟุตบอลที่มีศูนย์กลางเรื่องราวอยู่ที่อิซากิ โยอิจิ เด็กหนุ่มมัธยมปลายที่พบว่าตัวเองกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ทว่าตัวของอิซากินั้นขาดความมั่นใจในตัวเอง จนทำให้เขาโทษว่าตัวเองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ทีมแพ้
อย่างไรก็ตามอิซากินั้น ก็ได้ถูกจินปาจิ เอโกะ ชายผู้พัฒนาโปรเจกต์บลูล็อก ดึงไปคัดตัวกับนักฟุตบอลกลุ่มที่เป็นกองหน้ากว่า 200 คน เพื่อสร้างสไตร์เกอร์ที่แข็งแกร่งที่ในญี่ปุ่น ทว่านี่ไม่ใช่การคัดเลือกแบบทีม แต่เป็นแบตเทิลรอยัล ที่มีอนาคตในวงการฟุตบอลเป็นเดิมพัน หากใครที่ชนะ จะได้เข้าไปอยู่ตัวเต็งทีมชาติ แต่ถ้าใครแพ้จะถูกแบนจากทีมชาติไปตลอดชีวิต
BLUE LOCK
จากเรื่องย่อที่มีนั้น เราจะเห็นว่าถึงแม้ ‘BLUE LOCK’ จะเป็นการ์ตูนกีฬาก็จริง แต่การวางโครงเรื่องให้ตัวละครอยู่กันแบบแบตเทิลรอยัลนั้น ทำให้การห้ำหั่นของพวกเขา แตกต่างจากการ์ตูนกีฬาเรื่องอื่น ซึ่งบางที มันอาจจะต่างจากการ์ตูนโชเน็นทั่วไปด้วย
มูเนยูกิ คาเนชิโร (Muneyuki Kaneshiro) ผู้เขียน ได้อธิบายว่าการสร้าง ‘BLUE LOCK’ นั้นมาจากความชอบด้านกีฬาของเขา และตัวเขาเองนั้นไม่สามารถเชื่อมโยงกับเอกที่ใช้ชีวิตเพื่อการเสียสละได้ ทำให้เขาตั้งใจที่จะสร้างตัวละครที่มีความคิดเป็นของตัวเอง และแก่งแย่งชิงดีกัน แม้จะอยู่ในทีมเดียวกันก็ตาม
มูเนยูกิ คาเนชิโร ผู้เขียน ‘BLUE LOCK’
หากใครเคยอ่าน ‘As The Gods Will’ หรือเกมเทวดา แล้วล่ะก็ จะเห็นเลยว่าคาเนชิโรสร้างสรรค์ตัวละครได้มีมิติขนาดไหน ซึ่งความโลภ โกรธ แค้น ได้ทำให้คนเผยสันดาบดิบของตัวเองออกมา ซึ่งคาเนชิโรพบว่าตัวละครที่ ‘เสียสละ’ มักจะกลับมาเห็นแก่ตัวในภายหลัง เพราะทุกคนรู้สึกว่าตน เสียสละมากเกินไป ดังนั้นแล้ว เขาจึงสร้างเรื่องราวที่ให้ทุกคนต่อสู้เพื่อเป้าหมายของตนไปเลย
ท้ายที่สุดแล้วทุกคนก็ใช้ชีวิตเพื่อตัวเอง งั้นทำไมเราไม่ปล่อยให้อีโก้ที่มีเป็นอิสระเลยล่ะ นั่นคือความคิดตอนที่ผมสร้าง ‘BLUE LOCK’ และบางทีนั่นอาจทำให้ผลงานนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
— มูเนยูกิ คาเนชิโร ผู้เขียน ‘BLUE LOCK’
จะเห็นได้ว่าการละทิ้งแนวทางการ์ตูนกีฬาแบบเดิม ๆ เพื่อสร้างเรื่องราวของความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ภายในคราบของการ์ตูนกีฬานี่แหละที่ทำให้ ‘BLUE LOCK’ แตกต่างจากการ์ตูนกีฬาเรื่องอื่น ๆ อย่างมาก เพราะเราจะพบว่าการ์ตูนโชเน็น และการ์ตูนกีฬาโดยส่วนใหญ่ จะเป็นสอนผู้อ่านให้เข้าใจถึงเรื่องการทำงานเป็นทีม สร้างมิตรภาพให้ทุกคนมีความเป็นครอบครัวไปด้วยกันกับผู้อ่าน
BLUE LOCK
เวลาที่ดูการ์ตูนกีฬา เราจะรู้สึกสบายใจเพราะเสมือนเข้าไปอยู่ในทีมของตัวเอกอย่างไรอย่างนั้น แต่ ‘BLUE LOCK’ นั้นต่างกัน เพราะนี่คือแบตเทิลรอยัลในคราบการ์ตูนฟุตบอล ซึ่งจุดเด่นของการ์ตูนแบตเทิลรอยัลก็เป็นอย่างที่เรารู้กัน คือเราไม่สามารถเอาใจช่วยใครได้เลย เพราะทุกคนมีโอกาสเป็นศัตรูกับใครก็ได้ ทำให้เราไม่สามารถเดาแนวทางของเรื่องราวได้ จนผู้อ่านไม่สามารถหลงรักตัวละครได้สนิทใจ เนื่องจากทุกตัวละครมีโอกาสถูกตัดบทจากเรื่องได้ตลอดเวลา
การสร้างอารมณ์ร่วมที่ทำให้หายใจหายคอไม่ทัน จนทำให้คนลุ้นไปจนจบเรื่อง และตัวละครแต่ละตัวต่างมีอีโก้ของตัวเองนั้น ทำให้ ‘BLUE LOCK’ เบียดแซงขึ้นมาเป็นการ์ตูนกีฬาที่โดดเด่นในยุคนี้ เพราะในยุคที่มิตรภาพ และคราบน้ำตา ไม่อาจปลอบประโลมจิตใจผู้คนได้ การได้ดูตัวละครที่ห้ำหั่นกันด้วยสันดานดิบนั้น ช่วยเสนอมุมใหม่ ๆ ให้กับโลกของฟุตบอล และด้วยเหตุนี้นี่แหละ จึงทำให้ ‘BLUE LOCK’ ประสบความสำเร็จมหาศาล ถึงขนาดที่ว่าสามารถเข็น ‘BLUE LOCK THE MOVIE: EPISODE NAGI’ ซึ่งเป็นเดอะมูฟวี่ที่เล่าเรื่องของตัวละครรองอย่างนางิ ออกมาได้ทันทีหลังจากฉายจบซีซัน 1
และความสำเร็จของ ‘BLUE LOCK’ อาจจะเป็นแค่คำจัดกัดความง่าย ๆ ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งตัวละครหนึ่งในเรื่องเคยกล่าวไว้
“ทิ้งความเข้าใจฟุตบอลแบบเดิม ๆ แล้วมาเริ่มใหม่ที่นี่ซะ”
The post ถอดรหัสคุกสีน้ำเงิน อะไรที่ทำให้ ‘BLUE LOCK’ กลายเป็นสุดยอดการ์ตูนฟุตบอลยุคใหม่ appeared first on BT beartai.
Credit ข่าวจาก : www.beartai.com/