ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของญี่ปุ่นในทุกวันนี้กลายเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกให้การยอมรับ แต่รู้หรือไม่ว่าที่จริงแล้วนี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวความเจริญที่ญี่ปุ่นเคยเป็นในอดีตเท่านั้น
The post Rapidus: ความหวังชุบชีวิตอุตสาหกรรมชิปของญี่ปุ่น appeared first on BT beartai.
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของญี่ปุ่นในทุกวันนี้กลายเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกให้การยอมรับ แต่รู้หรือไม่ว่าที่จริงแล้วนี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวความเจริญที่ญี่ปุ่นเคยเป็นในอดีตเท่านั้น ซึ่งบริษัทใหม่อย่าง Rapidus หวังว่าจะเข้ามากอบกู้ความเกรียงไกรด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่น
ถึงแม้ว่าในตอนนี้ญี่ปุ่นจะมีความเชี่ยวชาญในห่วงโซ่การผลิตชิปในหลายด้าน อย่างการผลิตเครื่องพิมพ์ชิปรังสีดียูวี (DUV) ผ่านบริษัท Nikon และ Canon หรือสารเคมีโฟโตรีสิส (photoresist) ที่ใช้ในการขึ้นลายบนแผ่นซิลิคอน แต่สภาวะของอุตสาหกรรมในทุกวันนี้แตกต่างเมื่อครั้งอดีตมากนัก
อดีตเคยยิ่งใหญ่
ญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยีที่ผลิตชิปได้มากที่สุดในโลก มีความสามารถในการแข่งขันและความสำเร็จที่สูงมาก มีห้องแลปโครงการวิจัยและทดลองเทคโนโลยีชิปที่ล้ำที่สุด อย่างการพิมพ์ชิปด้วยลำแสงอีเล็กทรอน (EBL) ที่ถือว่าล้ำมากจนเรียกได้ว่าปฏิวัติวงการในยุคนั้น และยังมีการทุ่มทุนมหาศาลและการพัฒนาที่ก้าวกระโดดทำให้ญี่ปุ่นสามารถครอบครองส่วนแบ่งตลาดชิปได้มากถึง 51%
ตัวเลขการค้าชิปของญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ในช่วง 1980 – 1986 สีม่วงอ่อนหมายถึงการส่งออกไปสหรัฐฯ สีม่วงเข้มคือการนำเข้าจากสหรัฐฯ หน่วยเป็น 100 ล้านเยน (ที่มา SHMJ)
อย่างไรก็ดี ความยิ่งใหญ่นี่เองที่ทำให้สหรัฐฯ หวาดระแวงญี่ปุ่นมากในฐานะคู่แข่งทางเศรษฐกิจ มีการออกมาตรการกีดกันทางการค้า ลามไปจนถึงมีการกล่าวหาว่าญี่ปุ่นเทชิปเข้าตลาดสหรัฐฯ จนเกิดการกดดันให้ญี่ปุ่นยอมทำข้อตกลงเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ – ญี่ปุ่น ในปี 1986 (US – Japan Semiconductor Agreement) แลกกับการขู่ว่าจะกันสินค้าญี่ปุ่น ผลของข้อตกลงนี้คือการกำหนดราคาขั้นต่ำเพื่อสร้าง ‘ความเป็นธรรม’ ให้กับชิปจากสหรัฐฯ และเพิ่มส่วนแบ่งต่างชาติในตลาดชิปของญี่ปุ่นจาก 10% เป็น 20% ซึ่งลดความสามารถในการแข่งขันและการครองตลาดโลกชิปของญี่ปุ่นอย่างมาก
แต่ญี่ปุ่นก็ยังไม่ลดละความพยายามรักษาบัลลังก์ ความพยายามของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1990 – 2000 ที่เข็นให้บริษัทต่าง ๆ ไปเน้นความเชี่ยวชาญในการผลิตชิป แทนการผลิตชิปแบบครบวงจรแบบเดิม เพื่อปรับตัวตามกระแสโลก ที่เริ่มหันไปแบ่งงานกันทำภายใต้ห่วงโซ่อุปทานชิปทั่วโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคู่แข่งอย่างไต้หวันและเกาหลีใต้ ทว่ากลับไม่ประสบความสำเร็จ
ทั้งหมดนี้ทำให้ความพยายามในการแข่งขันในตลาดชิปของญี่ปุ่นก็จมหายไปกับกาลเวลา จวบจนกระทั่งทุกวันนี้ แม้จะมีหลายต่อหลายครั้งที่ญี่ปุ่นจะพยายามทุ่มงบประมาณเพื่อฟื้นฟูธุรกิจชิปให้กลับมาดังเดิมก็ตามที แต่ก็ยังไม่เห็นผล
ความทะเยอทะยานของญี่ปุ่น
แม้ว่าทุกวันนี้ญี่ปุ่นจะเป็นฐานที่มั่นของบริษัทชิปที่มีชื่อเสียงหลายบริษัท ทั้ง Sony, Kioxia และ Toshiba แต่ในส่วนแบ่งการผลิตชิปขั้นสูงที่ใช้โหนดการผลิตชิปขนาดเล็กกว่า 16/14 นาโนเมตรในโลกนั้น ญี่ปุ่นมีไม่ถึง 1% ขณะที่ยักษ์ใหญ่ในเอเชียตะวันออกอย่างไต้หวันและเกาหลีใต้ มีส่วนแบ่งมากถึง 68% และ 12% ตามลำดับ
แต่ในไม่กี่ปีให้หลังมานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าที่จะขยายกำลังการผลิตชิปภายในประเทศ ด้วยการสนับสนุนเงินงบประมาณให้แก่บริษัทที่เป็นผู้ผลิตชิปรายสำคัญ เป้าหมายสูงสุดคือการคืนชีพให้อุตสาหกรรมชิปญี่ปุ่นกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง
ตั้งแต่ช่วงปี 2021 – 2022 ได้มีการสนับสนุนงบประมาณมากกว่า 1 ล้านล้านเยน (ราว 234,276 ล้านบาท) ให้กับโรงงานผลิตชิปที่อยู่ภายในประเทศ และพยายามดึงดูดบริษัทผลิตชิปต่างชาติหลายบริษัทให้เข้ามาลงทุนในประเทศ ผ่านการสร้างโรงงานชิปขนาดใหญ่ ในบรรดาบริษัทที่เข้ามามียักษ์ใหญ่อย่าง TSMC จากไต้หวัน Micron และ Intel จากสหรัฐอเมริกา และ Samsung จากเกาหลีใต้
ในปี 2023 กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ได้ออกเอกสารยุทธศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับชิปที่มีต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจของประเทศ แสดงถึงความตั้งใจคืนชีพให้กับอุตสาหกรรมชิปที่ตัวเองเคยรุ่งเรืองในอดีต ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ เน้น 2 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ การยกระดับศักยภาพการผลิตชิปภายในประเทศ และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) เทคโนโลยีชิปรุ่นใหม่โดยอาศัยความร่วมมือกับนานาประเทศ
ญี่ปุ่นได้ให้กองทุนภายใต้บรรษัทการลงทุนญี่ปุ่น (Japan Investment Corporation – JIC) ซึ่งเป็นการกองทุนที่อยู่ในกำกับของ METI เข้าซื้อ JSR บริษัทผลิตวัสดุที่ใช้ในกระบวนการผลิตชิปด้วยมูลค่ากว่า 900,000 ล้านเยน (ราว 211,537 ล้านบาท) โดย JSR ถือส่วนแบ่งตลาดของสารโฟโตรีซิสราว 30% ของโลก ซึ่งเป็นการวางพื้นฐานการผลิตชิปขั้นสูงในระยะยาว
Rapidus ถือกำเนิด
หนึ่งในโครงการรื้อฟื้นอุตสาหกรรมชิปที่ญี่ปุ่นทุ่มทุนมหาศาลที่สุดคือ Rapidus Corporation ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2022 เป็นการร่วมทุนกันของยักษ์ใหญ่วงการชิปญี่ปุ่น 8 เจ้า โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อการผลิตชิปขั้นสูงขนาด 2 นาโนเมตรให้ได้ภายในปี 2027 ตั้งเป้าว่าจะตามเจ้าตลาดอย่าง TSMC และ Samsung ให้ทัน โดยตั้งเป้าจะนำเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิตด้วย
ผู้บริหารของ IBM (ซ้าย) จับมือกับผู้บริหารของ Rapidus Corporation (กลาง) และผู้บริหารของ Rapidus Design Solutions (ขวา)
Rapidus ยังเกิดขึ้นภายใต้การร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอย่าง IBM ของสหรัฐฯ และ IMEC ของเบลเยียม ยิ่งไปกว่านั้น สหภาพยุโรปยังเคยออกคำชื่นชมความพยายามของญี่ปุ่นผ่านการก่อตั้ง Rapidus
รัฐบาลตั้งความหวังกับ Rapidus มาก ทุ่มเงินให้กว่า 300,000 ล้านเยน (ราว 70,868 ล้านบาท) ไปสร้างศูนย์ผลิตชิปครบวงจรในเมืองชิโตะเสะ จังหวัดฮอกไกโด และมีแผนที่จะขยายฐานการผลิตต่อไปในพื้นที่อื่น ๆ
เทตสุโระ ฮิกาชิ (Tetsuro Higashi) ประธานของ Rapidus ยังเข้าไปเป็นประธานของศูนย์ Leading-edge Semiconductor Technology Center (LSTC) ซึ่งมีเครือข่ายเป็นสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เพื่อวิจัยเทคโนโลยีชิปใหม่ ๆ ด้วย ศูนย์แห่งนี้ได้เงินสนับสนุนมากกว่า 45,000 ล้านเยน (ราว 10,628 ล้านบาท)
นักวิเคราะห์จาก Visual Capitalist ประเมินว่า Rapidus อาจช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการผลิตชิปขั้นสูงในญี่ปุ่นจนขยับขึ้นไปกินส่วนแบ่ง 4% ของตลาดโลกภายในปี 2027 ซึ่งเป็นปีที่ Rapidus ตั้งเป้าว่าจะผลิตชิป 2 นาโนเมตรส่งออกสู่ตลาดให้ได้
โครงการ Rapidus ถือเป็นความทะเยอทะยานครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นที่ยังต้องพิสูจน์ตัวเองกันอีกยาว เพราะแม้จะเกิดขึ้นด้วยการรวมตัวจากธุรกิจยักษ์ใหญ่ และได้รับเงินทุนมหาศาลจากรัฐบาล แต่การจะดึงดูดเงินลงทุนจากภาคเอกชนทั้งในญี่ปุ่นเอง และจากต่างประเทศ ยังต้องพิสูจน์ตัวเองทั้งในด้านโมเดลธุรกิจ การปฏิบัติการ ลงไปจนถึงรูปแบบการผลิต
ยังต้องดูกันอีกยาว
แต่การจะเบียดแซงเจ้าตลาดทั้งไต้หวันหรือเกาหลีใต้ได้ ญี่ปุ่นยังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกนาน และแม้ว่า Rapidus จะผลิตชิป 2 นาโนเมตรได้ทันภายในปี 2027 แต่ในเวลานั้นก็อาจถือว่าไม่ใช่ชิปที่ก้าวหน้าที่สุดแล้ว เพราะ TSMC และ Samsung ก็มีแผนที่จะผลิตชิป 1.5 นาโนเมตรให้ได้ภายในปี 2026 ซึ่งเร็วกว่าและก้าวหน้ากว่าแผนการผลิตชิป 2 นาโนเมตรของ Rapidus ถึง 1 ปีเลยทีเดียว
และไม่ใช่เฉพาะความสามารถผลิตชิปเท่านั้น จอน เมตซเลอร์ (Jon Metzler) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ชี้ว่าการที่ญี่ปุ่นจะพัฒนาตลาดชิปให้สำเร็จได้ต้องมีสถาบันการศึกษารองรับ และบริษัทที่ต้องรั้งคนไว้ให้อยู่ เพราะตลาดชิปของสหรัฐฯ ไต้หวัน หรือเกาหลีใต้เจริญได้มาจากคนที่ทำงานในบริษัทชั้นนำ และเป็นผลิตจากระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ รวมถึงต้องคำนึงถึงห่วงโซ่การผลิตชิปทั้งโลก ว่าจะสามารถเข้าไปทดแทนพื้นที่ของเจ้าอื่นได้หรือไม่
ซึ่งปัญหาสำคัญของญี่ปุ่นก็คือการเป็นสังคมผู้สูงวัย ที่มีลักษณะพื้นฐานบางประการไม่ต่างกับคู่แข่งอย่างไต้หวันและเกาหลีใต้ อีกทั้งวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นก็มีความกดดันสูง ทางออกที่ญี่ปุ่นอาจมองต่อไปคือการเปิดรับชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในตลาดแรงงานในทุกระดับให้เพิ่มมากขึ้น
ที่สำคัญที่สุดคือญี่ปุ่นจะเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต ปรับตัวให้ทันกับแนวโน้มในปัจจุบัน และประเมินแนวโน้มในอนาคตได้สอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ จะคืนชีพอีกครั้ง หรือจะถูกเพื่อนทิ้งก็ต้องดูก้นต่อไป
The post Rapidus: ความหวังชุบชีวิตอุตสาหกรรมชิปของญี่ปุ่น appeared first on BT beartai.
Credit ข่าวจาก : www.beartai.com/