การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับคนพิการที่จะขึ้นทุก ๆ 4 ปี หลังการแข่งขันโอลิมปิกจบลง กำลังจะเปิดฉากขึ้นอีกครั้ง ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 17 แล้วที่ถูกจัดขึ้น โดยครั้งนี้จะมีขึ้นอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม 2567 – 8 กันยายน 2567 ซึ่งมีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 4,400 คน จาก 184 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมการแข่งขัน ดังนั้นก่อนที่การแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ในครั้งนี้จะเริ่มขึ้น เราจะพาไปดู 5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพาราลิมปิกเกมส์กัน 1. จุดกำเนิดของ ‘พาราลิมปิก’ มหกรรมการแข่งขันกีฬาสำหรับคนพิการมีขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณ 76 ปีที่แล้ว ในปี ค.ศ. 1948 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ก่อตั้งโดย เซอร์ ลุดวิก กุตต์มานน์ (Ludwig Guttmann) ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษที่มีเชื้อสายเยอรมัน โดยใช้ชื่อการแข่งขันว่า สโต๊ก แมนเดวิลล์ เกมส์ (the Stoke…
The post [บทความ] 5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพาราลิมปิกเกมส์ appeared first on BT beartai.
การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับคนพิการที่จะขึ้นทุก ๆ 4 ปี หลังการแข่งขันโอลิมปิกจบลง กำลังจะเปิดฉากขึ้นอีกครั้ง ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 17 แล้วที่ถูกจัดขึ้น โดยครั้งนี้จะมีขึ้นอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม 2567 – 8 กันยายน 2567 ซึ่งมีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 4,400 คน จาก 184 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมการแข่งขัน
ดังนั้นก่อนที่การแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ในครั้งนี้จะเริ่มขึ้น เราจะพาไปดู 5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพาราลิมปิกเกมส์กัน
1. จุดกำเนิดของ ‘พาราลิมปิก’
มหกรรมการแข่งขันกีฬาสำหรับคนพิการมีขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณ 76 ปีที่แล้ว ในปี ค.ศ. 1948 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ก่อตั้งโดย เซอร์ ลุดวิก กุตต์มานน์ (Ludwig Guttmann) ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษที่มีเชื้อสายเยอรมัน โดยใช้ชื่อการแข่งขันว่า สโต๊ก แมนเดวิลล์ เกมส์ (the Stoke Mandeville Games)
โดยสาเหตุที่จัดการแข่งขันกีฬาสำหรับคนพิการขึ้น เนื่องจากต้องการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายและเยียวยาสภาพจิตใจให้กับทหารผ่านศึกที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ในการแข่งขันครั้งแรกที่ สโต๊ก แมนเดวิลล์ เกมส์ กีฬาแรกที่มีการจัดแข่งขันขึ้นคือ กีฬายิงธนู โดยมีทหารผ่านศึกทั้งชายและหญิงเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 16 คน (ชาย 14 คน และ หญิง 2 คน)
นับจากนั้นก็ได้มีการจัดแข่งขันขึ้นในทุก ๆ ปี เริ่มมีการเพิ่มกีฬาประเภทอื่นเข้ามาและเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนที่ในปี ค.ศ. 1952 จะมีการเปลี่ยนชื่อการแข่งขันเป็น สโต๊คแมนเดวิลล์นานาชาติ (International Stoke Mandeville Games) เริ่มเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติมากขึ้น เนื่องจากในครั้งนี้มีนักกีฬาชาวเนเธอร์แลนด์ที่เป็นทหารผ่านศึกเข้าร่วมการแข่งขันด้วย
ก่อนที่ในเวลาต่อมาในปี ค.ศ. 1960 จะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘พาราลิมปิกเกมส์’ (Paralympic) นับเป็นครั้งแรกที่ มหกรรมกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ได้ถือกำเนิดขึ้น ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ซึ่งมีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันถึง 400 คน จาก 23 ประเทศ
2. ทำไม ‘พาราลิมปิก’ ต้องจัดหลัง ‘โอลิมปิก’
สาเหตุที่ทำไม พาราลิมปิก ต้องจัดหลัง โอลิมปิก จบลง เนื่องจากเป็นข้อตกลงกันของ คณะกรรมการพาราลิมปิกเกมส์ (IPC) กับ คณะกรรมโอลิมปิกเกมส์ (IOC) ที่มีข้อตกลงว่าเจ้าภาพที่จัดโอลิมปิกเกมส์ต้องจัดพาราลิมปิกเกมส์ด้วย เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณในการจัดการแข่งขันที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
นอกจากนั้นคำว่า พารา(Para) นั้นมาจากภาษากรีก ซึ่งมีความหมายว่า ข้างหรือเคียงข้าง ส่วนคำว่า Olympic มีความหมายว่า การแข่งขัน ซึ่งถ้านำมารวมกันจะสื่อความหมายว่าการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์จะจัดเคียงข้างกับโอลิมปิกเกมส์ตลอดไป
3. ไทยเข้าร่วมครั้งแรกตอนไหน
ประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกครั้งแรก ในพาราลิมเกมส์ครั้งที่ 7 ในปี ค.ศ. 1984 ที่สโตก แมนเดวิลล์ ประเทศอังกฤษ และ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าภาพ แต่ในการเข้าร่วมครั้งแรกทีมชาติไทยยังไม่สามารถคว้าเหรียญพาราลิมปิกมาครองได้
จนกระทั่งใน 4 ปีต่อมา ในพาราลิมเกมส์ครั้งที่ 8 ปี ค.ศ. 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ นักกีฬาคนแรกที่สามารถคว้าเหรียญพาราลิมปิกได้สำเร็จได้แก่ ‘สกุล คำตัน’ ด้วยการคว้าเหรียญเงิน ในการแข่งขัน พุ่งแหลนชาย
4. ผลงานทีมชาติไทยที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ผลงานของทีมชาติไทยในการแข่งขันที่ผ่านมา จากทั้งหมด 9 ครั้งที่เข้าร่วมการแข่งขัน ทีมชาติไทยสามารถคว้าเหรียญมาได้ทั้งหมด 87 เหรียญ โดยแบ่งเป็น 24 เหรียญทอง, 29 เหรียญเงิน และ 34 เหรียญทองแดง
ผลงานครั้งล่าสุดในพาราลิมปิก ครั้งที่ 16 ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทีมชาติไทย สามารถคว้ามาได้ถึง 18 เหรียญ แบ่งเป็น 5 เหรียญทอง , 5 เหรียญเงิน และ 8 เหรียญทองแดง รั้งอันดับที่ 25 ของตารางสรุปเหรียญ
ส่วนนักกีฬาไทยที่สามารถคว้าเหรียญพาราลิมปิกได้มากที่สุดได้แก่ ‘ประวัติ วะโฮรัมย์’ คว้ามาได้ถึง 16 เหรียญ โดยแบ่งเป็น 7 เหรียญทอง, 8 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง ในการแข่งขันวีลแชร์เรซซิ่ง
5. โอกาสของไทยในพาราลิมปิก 2024
ในการแข่งขันพาราลิมปิกครั้งที่ 17 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทัพทีมชาติไทยคว้าโควตาเข้าร่วมการแข่งขันได้ถึง 79 คน ซึ่งนับเป็นสถิติที่ได้โควตามากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำลายสถิติพาราลิมปิกเกมส์ ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ครั้งที่แล้ว
โดยนักกีฬา 79 คน มาจาก 15 ชนิดกีฬา คือ ยิงธนู กรีฑา วีลแชร์เรซซิ่ง แบดมินตัน บอคเซีย เทนนิส จักรยาน แคนนู เรือพาย วีลแชร์ฟันดาบ ยกน้ำหนัก ยิงปืน ว่ายน้ำ เทเบิลเทนนิส เทควันโด และ ยูโด
ซึ่งกีฬาความหวังอันดับ 1 ของไทยคงหนีไม่พ้น วีลแชร์เรซซิ่ง ที่นำทัพโดย ประวัติ วะโฮรัมย์ นักกีฬาไทยที่สามารถคว้าเหรียญพาราลิมปิกได้มากที่สุด อีกทั้งยังมี พงศกร แปยอ เจ้าของเหรียญทองและสถิติโลกวีลแชร์เรซซิ่งครั้งที่ผ่านมา รวมถึง อธิวัฒน์ แพงเหนือ เจ้าของเหรียญทองประเภท 100 เมตร ครั้งที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีกีฬาความหวังอื่น ๆ ทั้ง กีฬาฟันดาบ เทเบิลเทนนิส บอคเซีย และ แบดมินตัน ที่โอกาสลุ้นเหรียญในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
ในท้ายที่สุดก็ต้องขอแรงเชียร์และกำลังใจจากแฟน ๆ ชาวไทยทุกคน ร่วมเชียร์ทัพนักกีฬาทีมชาติไทยให้ประสบความสำเร็จ คว้าเหรียญรางวัลในมหกรรมกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ 2024 ครั้งนี้ไปด้วยกัน
The post [บทความ] 5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพาราลิมปิกเกมส์ appeared first on BT beartai.
Credit ข่าวจาก : www.beartai.com/