สรุปทิศทางและแนวทางการปรับตัวที่ต้องรู้ หากไม่อยากตกขบวนโลกธุรกิจยุคใหม่ ! จากงาน EARTH JUMP 2024 ซึ่งจัดโดยธนาคารกสิกรไทย ภายใต้แนวคิด ‘The Edge of Action’
The post สรุปทิศทางและแนวทางการปรับตัวที่ต้องรู้ จากงาน EARTH JUMP 2024 appeared first on BT beartai.
นาทีนี้ต้องบอกว่าเทรนด์ธุรกิจสีเขียวมาแรงมาก BT Beartai ขอสรุปทิศทางและแนวทางการปรับตัวที่คุณต้องรู้ หากไม่อยากตกขบวนโลกธุรกิจยุคใหม่ ! จากงาน EARTH JUMP 2024 ซึ่งจัดโดยธนาคารกสิกรไทย ภายใต้แนวคิด ‘The Edge of Action’ ที่แตกต่างจากงาน Sustainability ทั่วไป เพราะบียอนด์มากกว่าแค่การทำให้ทุกคนตระหนักถึงภาวะโลกเดือด แต่ต้องการให้เกิดการลงมือทำจริง เพื่อร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์โดยเร็ว เพราะนี่คือสิ่งที่เวทีธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญ หากไม่ปรับตัวก็น่าจะเสียโอกาสทางการค้าไปไม่น้อย และผลกระทบนี้จะส่งผลต่อทั้งซัปพลายเชน ดังนั้นไม่ว่าจะธุรกิจเล็กหรือใหญ่ในท้ายที่สุดก็ต้องปรับตัว นี่จึงเป็นโอกาสของคนที่ปรับตัวก่อนได้เปรียบกว่า
งานนี้เป็นกระดุมเม็ดแรกให้ธุรกิจได้เริ่มต้นก้าวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เพราะได้ทั้งอัปเดตนโยบายและทิศทางของประเทศ แล้วยังมีธุรกิจที่เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนได้สำเร็จมาแชร์ประสบการณ์ ซึ่งเคล็ดลับที่วิทยากรพูดเป็นเสียงเดียวกันก็คือต้องรู้ว่าเราปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ จากนั้นเริ่มลงมือทำอะไรง่าย ๆ ลงทุนไม่เยอะ เป็น Small Wins แล้วค่อย ๆ ชักชวนพนักงาน และชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วม
จากที่ BT Beartai ได้มีโอกาสไปร่วมงาน ก็พบว่ามีธุรกิจบางส่วนมองเห็นโอกาสและพร้อมแล้วที่จะลงมือทำ โดยร่วมฟังเสวนาทั้ง 2 เวทีอย่างล้นหลาม แล้วยังมีผู้สนใจเข้ารับคำปรึกษาธุรกิจแบบตัวต่อตัว โดยเฉพาะในหัวข้อ Decarbonize Advisory by KBank, Solar Panel Installation by SCG และ Sustainable Packaging Solution by SCGP เป็นต้น สะท้อนว่าภาคธุรกิจเองก็มองว่านี่ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่คือสิ่งที่ต้องทำ สำหรับนักธุรกิจและผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาสและต้องการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำแต่พลาดงานนี้ไป บทความนี้จะมาสรุปทิศทางและแนวทางการปรับตัวที่ได้จากงาน EARTH JUMP 2024 ให้ทุกคนได้อ่านกัน
งานนี้ได้รับเกียรติจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยฉายภาพเป้าหมายและทิศทางของประเทศในเรื่องของการแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งจากการเดินทางไปพบนักลงทุนต่างชาติจะเห็นว่า ปัจจัยที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน คือพลังงานสะอาด ดังนั้น หากประเทศไทยยังไม่พร้อมรองรับพลังงานสะอาด เราก็จะแข่งขันกับชาติอื่นไม่ได้
แม้ทุกวันนี้ไทยจะมีการใช้พลังงานอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ ทำให้รัฐบาลต้องเร่งพัฒนาประเทศให้รองรับพลังงานสะอาด โดยเชื่อมั่นว่าในอีก 15 ปีข้างหน้าหรือปี 2040 พลังงานต่าง ๆ ที่ใช้ในประเทศไทยจำนวนกว่า 50% จะเป็นพลังงานสะอาด
ทั้งนี้จำเป็นต้องมีแรงขับเคลื่อนขนาดใหญ่ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน ร่วมกันสนับสนุนทั้งกฎระเบียบ นวัตกรรมเทคโนโลยี และเงินทุนในการนำพลังงานสะอาดมาใช้เพิ่มเติมต่อไปในอนาคต
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปีนี้จัดงาน EARTH JUMP เป็นปีที่ 2 แล้ว และในช่วงปีที่ผ่านมาก็มีงานที่เกี่ยวกับ Climate อยู่เยอะพอสมควรทีเดียว จึงอยากให้งาน EARTH JUMP 2024 สามารถส่งแรงบันดาลใจ ส่งต่อแนวคิดให้นำไปปรับใช้กับธุรกิจ
เราจัดงานครั้งนี้ไม่ได้ต้องการซีน หรือแค่ให้ผู้ร่วมงานถ่ายรูปแล้วจบไป แต่เราอยากเห็นการ Take Action การลงมือทำจริง ๆ ในแต่ละภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ องค์กร มาถึงเราทุกคนในฐานะผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยหลายคนก็ลงมือทำไปบ้างแล้ว ขณะที่หลายคนยังสงสัยว่าการรักษ์โลกนั้นช่างสวนทางกับการทำธุรกิจเหลือเกิน แต่ในความจริง การดูแลโลกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถทำไปพร้อมกันได้ จากข้อมูล GDP ซึ่งเป็นตัววัดความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศที่ยิ่งมีการเติบโตของ GDP สูงขึ้นเท่าไร่ อัตราการปล่อยคาร์บอนยิ่งน้อยลงเท่านั้น
ซึ่งการสร้างความยั่งยืนต้องเริ่มจากการตระหนักว่า เราต้องรู้ว่าเราเก่งอะไร, มีหน้าที่ต้องทำอะไร และอะไรคือ Passion ที่เราอยากทำทุกเช้า เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิด Climate Action ไปด้วยกัน
และประเทศไทยจะก้าวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้ ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำงานร่วมมือกัน และร่วมแชร์ประสบการณ์การปรับตัวจากธุรกิจต่าง ๆ ที่ได้ลงมือทำ ไปสู่ผลลัพธ์ที่จับต้องได้
NDC Target คือแผนแม่บทของไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไทย ด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% รวมถึงตั้งเป้าผลิตรถ EV 30% ภายในปี 2030 เพื่อลดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
แต่สิ่งท้าทายในการผลักดันธุรกิจสู่ความยั่งยืนและการลดก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจาก Green Project เหล่านี้มีต้นทุนในการปรับธุรกิจเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนจึงมีความต้องการเงินทุน ทำให้ธนาคารต้องเข้ามาช่วยเหลือ เช่น ธนาคารกสิกรไทยที่สนับสนุนทั้งเงินทุนและองค์ความรู้ เพื่อให้ธุรกิจปรับตัวได้ และอีกความท้าทายหนึ่งคือขาดทรัพยากร และอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในหลายธุรกิจยังขาดความตระหนักรู้ในเรื่องสังคม Net zero รวมถึงความรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว
เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้ผ่านการให้ความรู้และแสดงให้เห็นถึงโอกาสที่จะสูญเสียไป เช่น มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาอย่าง CBAM ถูกบังคับใช้ ไม่ว่าเจ้าไหนที่ส่งออกไปยัง EU แล้วปล่อยคาร์บอนมากต้องจ่ายภาษีมาก
และต้องจัดหาที่ปรึกษา เพื่อให้คำแนะนำเฉพาะรายธุรกิจที่กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม พร้อมกับปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสมัย ไม่ซับซ้อนจนเกินไปที่ผู้ประกอบการรายเล็กจะเข้าใจ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
หากไทยไม่ปรับตัวสู่การลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ก็จะตกขบวนจากกระแสของโลก และอาจเสียโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ หรืออาจจะเสียโอกาสในการส่งออกจากกฎหมาย CBAM ทำให้ไทยยังต้องตั้งเป้าหมายที่ปี 2065 เพื่อความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมาย การตั้งเป้าหมาย Net Zero จะช่วยเพิ่มโอกาสต่าง ๆ เช่น หากใช้พลังงานสะอาดได้ 100% ก็จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้
ซึ่งประเทศไทยควรมีแนวทางหลักในการลดการปล่อยคาร์บอน ด้วยการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เนื่องจากมีโครงสร้างการจัดเก็บอยู่แล้ว ทำให้ภาคธุรกิจวางแผนการลงทุนได้ง่ายกว่าเพราะรู้ต้นทุน และต่างประเทศยอมรับมากกว่า
จึงควรเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนจากจุดต้นน้ำ อาทิ โรงงานไฟฟ้า ผู้ค้าน้ำมัน และการใช้เชื้อเพลิง เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและวางแผนการลงทุนของภาคธุรกิจ ทำให้ธุรกิจนั้นต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการปล่อยคาร์บอน และปรับแนวทางการทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนภาครัฐควรนำเงินจากภาษีคาร์บอนไปจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่าน อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สันดาป
ในท้ายที่สุด เรื่องสำคัญนี้ต้องเกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน รวมถึงการวางนโยบายและแนวทางที่ชัดเจน จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้
เรื่องความยั่งยืน ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ 80-90% มักล้มเหลวตอนปฏิบัติจริง ดังนั้นการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนควรเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิธีคิดของผู้ประกอบการและพนักงานให้ตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน ซึ่งต้องรู้ได้ก่อนว่า ทำไมเราต้องรักษาสิ่งแวดล้อม อะไรกำลังเสื่อมโทรม และจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร
จากประสบการณ์ของธุรกิจที่ลงมือทำสำเร็จล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เริ่มต้นให้เล็กจะช่วยให้รู้สึกว่ามันไม่ยาก” เช่น การจัดการขยะ การลดการใช้พลาสติกและพลังงาน การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นต้น แล้วจึงพัฒนาต่อยอดการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจและชุมชน เพื่อผลักดันการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ด้วยการวัดและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
หากประสบปัญหาก็ควรขอการสนับสนุนจากสถาบันการเงินและหน่วยงานภาครัฐในการให้คำปรึกษาและแหล่งเงินทุนเพื่อการลงทุนด้านความยั่งยืน
โดยสิ่งสำคัญคือ การจะดำเนินเรื่องความยั่งยืน ต้องเริ่มด้วย Heart ส่งไป Head และลงมือทำที่ Hand ซึ่งเป็น Secret sauce ขององค์กร คือเริ่มจากใจที่อยากช่วยกันทำ พอมี Heart (ใจ) ความรู้ใน Head (หัว) ก็จะนำเสนอโปรเจกต์ต่าง ๆ ไปสู่ Hand (การลงมือทำ)
ชวนรู้จัก 3 เครื่องมือจากบริษัทชั้นนำ ที่จะช่วยให้คุณไม่พลาดในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจยั่งยืน ได้แก่
เครื่องมือแรก – หากคุณกำลังมองหานวัตกรรมที่จะช่วยประหยัดพลังงานและลดต้นทุนค่าไฟให้องค์กร บริษัท AltoTech พร้อมช่วยเหลือด้วย AI และ IoT ที่จะควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายในอาคารได้อย่างแม่นยำ จะช่วยให้ธุรกิจประหยัดพลังงานได้ 20 – 30% ตอบโจทย์กระแสโลกคาร์บอนต่ำ โดยเปลี่ยนตึกที่กินพลังสูงให้เป็นตึกสีเขียว รวมถึงยังมีระบบที่ช่วยในการรวบรวมข้อมูลจากการใช้พลังงานของบริษัทอื่น ๆ เพื่อออก Alto Auto Certificates รับรองว่าเป็นตึกที่มีการใช้พลังงานสะอาด
เครื่องมือที่สอง – ตัวช่วยอย่าง ION ENERGY สตาร์ตอัปด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่คิด Solution ที่ช่วยแก้ปัญหาจากการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด เพราะบริษัทโซลาร์เซลล์เจ้าแรกในไทยที่ทำครบทั้งการเป็นผู้ลงทุนใน Solar Private PPA (Power Purchase Agreement) และเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง อีกทั้งยังเป็น Tech Developer ที่ช่วยให้ประสบการณ์กับผู้ใช้บริการดีที่สุด เช่น แพลตฟอร์มสำหรับติดตามดูการใช้พลังงานแสงอาทิตย์
เครื่องมือที่สาม – สำหรับธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอนด้วยการปลูกป่า The Next Forest พร้อมนำเสนอแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาอย่างครบวงจร ด้วยการนำวิชาการ งานวิจัย และเทคโนโลยีมาใช้ ตั้งแต่การสำรวจ ออกแบบ ปลูก ติดตาม รวมถึงนำสัตว์ป่ากลับคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อสร้างป่าแท้ที่ยั่งยืน
ไม่รู้จะเริ่มต้นปรับธุรกิจให้ปล่อยคาร์บอนต่ำอย่างไร?
ภายในงาน EARTH JUMP 2024 มี Business Clinic ให้คำปรึกษาธุรกิจแบบเอกซ์คลูซีฟตัวต่อตัวกับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ เพื่อช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าสู่ความยั่งยืนได้สำเร็จ โดยธุรกิจ Startup ให้ความสนใจปรึกษาเรื่องวางแผนธุรกิจกับ McKinsey & Company มากที่สุด ส่วนผู้ประกอบการ SME สนใจปรึกษาเรื่อง Decarbonize Advisory by KBank, Solar Panel Installation by SCG และ Sustainable Packaging Solution by SCGP ตามลำดับ ซึ่งบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าธุรกิจไทยบางส่วนมองเห็นโอกาสและพร้อมแล้วที่จะลงมือทำ
สอดคล้องกับที่นักธุรกิจที่เข้าร่วมงานสนใจขอรับคำปรึกษาทางการเงินกับธนาคารกสิกรไทย เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในการปรับเปลี่ยนธุรกิจ นี่จึงทำให้งาน EARTH JUMP 2024 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของธุรกิจไทยที่ครบทุกมิติ
สำหรับงาน EARTH JUMP 2024 : The Edge of Action เป็นการจัดงานแบบ Carbon Neutral Event อย่างเต็มรูปแบบ เพราะในกระบวนการจัดงานทุกขั้นตอนผ่านการวางแผนอย่างละเอียด เพื่อที่จะไม่สร้างมลภาวะ และลดการปล่อยคาร์บอน โดยมีการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมในงานทั้งหมด เพื่อชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา มีการออกแบบและผลิตโครงสร้างนิทรรศการ รวมถึงวัสดุที่ใช้ตกแต่งการจัดงานทั้งหมดสามารถนำกลับไปใช้ได้อีก เรียกว่าเป็นความตั้งใจและสามารถเป็นตัวอย่างการจัดงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ดีงานหนึ่งเลยทีเดียว
ซึ่งก็สะท้อนออกมาเป็นบทสรุปที่สำคัญที่สุดคืองานนี้มุ่งเน้นให้เกิดการ “ลงมือปฏิบัติจริง” ตามแนวคิด THE EDGE OF ACTION ร่วมกันสร้างพลังเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
The post สรุปทิศทางและแนวทางการปรับตัวที่ต้องรู้ จากงาน EARTH JUMP 2024 appeared first on BT beartai.
Credit ข่าวจาก : www.beartai.com/