ถ้าพูดถึงเทศกาลดนตรีในฝันของนักฟังเพลงส่วนมาก หนึ่งในนั้นต้องมี ‘Summer Sonic’ ติดโผเป็นอันดับต้น ๆ อย่างแน่นอน นี่ถือเป็นเวทีที่ศิลปินระดับท็อปของโลกหลายเบอร์ เคยขึ้นแสดงและเป็นเฮดไลเนอร์ของงานมาแล้ว ไล่ตั้งแต่ชื่อของ เจมส์ บราวน์ (James Brown), Green Day, Linkin Park, Coldplay, Oasis, บียอนเซ (Beyonce), รีฮันนา (Rihanna) หรือแม้แต่ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ในปีนี้ Summer Sonic สร้างเซอร์ไพรส์โดยการหอบทั้งเฟสติวัลมาจัดขึ้นที่ประเทศไทยครั้งแรก โดยใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘Summer Sonic Bangkok’ อีกทั้งยังยกทัพศิลปินดังมาร่วมโชว์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น YOASOBI, LAUV หรือ LAUFEY BT BUZZ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นาโอกิ ชิมิซุ (Naoki Shimizu) ผู้ก่อตั้ง ‘Summer Sonic’ ในหลากหลายประเด็น ทั้งฝ่าฟันอุปสรรคในการสร้างแบรนด์…
The post สัมภาษณ์ นาโอกิ ชิมิซุ ผู้ก่อตั้ง ‘Summer Sonic’ กับเบื้องหลังการเนรมิตเทศกาลดนตรี ‘ลูกครึ่งญี่ปุ่น-ไทย’ appeared first on BT beartai.
ถ้าพูดถึงเทศกาลดนตรีในฝันของนักฟังเพลงส่วนมาก หนึ่งในนั้นต้องมี ‘Summer Sonic’ ติดโผเป็นอันดับต้น ๆ อย่างแน่นอน นี่ถือเป็นเวทีที่ศิลปินระดับท็อปของโลกหลายเบอร์ เคยขึ้นแสดงและเป็นเฮดไลเนอร์ของงานมาแล้ว ไล่ตั้งแต่ชื่อของ เจมส์ บราวน์ (James Brown), Green Day, Linkin Park, Coldplay, Oasis, บียอนเซ (Beyonce), รีฮันนา (Rihanna) หรือแม้แต่ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift)
ในปีนี้ Summer Sonic สร้างเซอร์ไพรส์โดยการหอบทั้งเฟสติวัลมาจัดขึ้นที่ประเทศไทยครั้งแรก โดยใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘Summer Sonic Bangkok’ อีกทั้งยังยกทัพศิลปินดังมาร่วมโชว์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น YOASOBI, LAUV หรือ LAUFEY
BT BUZZ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นาโอกิ ชิมิซุ (Naoki Shimizu) ผู้ก่อตั้ง ‘Summer Sonic’ ในหลากหลายประเด็น ทั้งฝ่าฟันอุปสรรคในการสร้างแบรนด์ Summer Sonic จนกลายเป็นมิวสิกเฟสติวัลระดับท็อปของโลก รวมไปถึงเป้าหมายที่เขาวางไว้สำหรับการจัดงานที่ประเทศไทยครั้งนี้
นาโอกิ ชิมิซุ
คุณรู้สึกอย่างไรที่ได้นำ Summer Sonic มาจัดที่ประเทศไทย
ชิมิซุ: ก่อนอื่นต้องบอกว่าตกใจมาก เพราะว่าถ้าดูจากจํานวนนักข่าวที่มาในงานแถลงข่าว คือถ้าเป็นที่ญี่ปุ่น งานเฟสติวัลแบบนี้คงจะไม่มีนักข่าวมาเยอะขนาดนี้ และที่แน่ ๆ คงไม่มีนายกรัฐมนตรีมาร่วมงานแบบนี้ด้วย จากสิ่งนี้ผมมองเห็นว่าประเทศไทยค่อนข้างเป็นประเทศที่มีความสนใจในเรื่องของดนตรี มีการสนับสนุนในเรื่องของดนตรี และสิ่งหนึ่งที่รู้สึกได้ก็คือความสัมพันธ์ไทยกับญี่ปุ่นมีความแน่นแฟ้นมาก ๆ
งานเฟสติวัลที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีฐานแฟนเพลงที่เหนียวแน่น คุณวางแผนจะสร้างฐานคนดูของ Summer Sonic ในประเทศไทยอย่างไร
ชิมิซุ: จริง ๆ แล้ว Summer Sonic เป็นงานที่ไม่ว่าจะคนไทยหรือว่าคนเอเชียคงรู้จักกันดี แล้วก็ royalty กับงานนี้มากอยู่แล้ว แต่ผมมองว่าการที่ได้มาจัดที่ประเทศไทย อาจจะเป็นการสร้างโอกาสในการนําศิลปินเอเชียคนอื่น ๆ มาแสดงที่นี่ แน่นอนว่าเราอยากจะลองทํา Summer Sonic ในรูปแบบที่อาจจะแตกต่างจากที่ญี่ปุ่นสักเล็กน้อย
วางแผนจะนำเข้าศิลปินญี่ปุ่นมาแสดงในงานนี้มากน้อยขนาดไหน
ชิมิซุ: ตั้งแต่ที่เราจะจัด Summer Sonic ในประเทศไทย เราก็มีการพูดคุยกันอยู่แล้วว่าอย่างน้อย อยากจะให้มีศิลปินญี่ปุ่นมาแสดงที่นี่ 2-4 ศิลปิน และถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะเพิ่มจํานวนให้มากกว่านี้ด้วย แต่ว่าอย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การตัดสินใจจากฝ่ายเราอย่างเดียว แต่ว่าอยู่ที่ฝั่งไทยกับเรามาหารือกันอีกทีหนึ่ง อย่าง YOASOBI ที่ประกาศไปก่อนหน้า ก็เป็นศิลปินที่ทั้งสองฝั่งได้หารือกัน แล้วก็มีความเห็นตรงกัน
กว่าจะเป็นเทศกาลดนตรีระดับโลก Summer Sonic ต้องผ่านอะไรมาบ้าง อะไรคืออุปสรรคที่คุณนึกถึงเสมอ
ชิมิซุ: ครั้งแรกที่ผมจัด (ปี 2000) ตอนนั้น เจมส์ บราวน์ ขึ้นแสดงก่อนเฮดไลเนอร์ แล้วเขาก็ดันเล่นเกินเวลาไป จากที่ต้องเล่นแค่หนึ่งชั่วโมง เรื่องนี้ที่ญี่ปุ่นคือไม่ได้เลย มันเป็นเรื่องของมารยาทด้วย ซึ่งในมุมมองของผู้จัด นั่นคือความผิดพลาดและทำให้งานในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ
การที่ Summer Sonic ประสบความสําเร็จได้อย่างทุกวันนี้ ผมมองว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจากการจัดงานแค่ครั้งแรกแล้วปังเลย แต่มันเกิดจากการเรียนรู้ เกิดจากการเปลี่ยนแปลง การปรับตัว ปกติเฮดไลเนอร์ของเราจะเป็นเพลงร็อกมาก่อน แต่เราก็เปลี่ยนให้เป็นแบบนักร้องผู้หญิงอย่างบียอนเซบ้าง หรือว่าเพิ่มศิลปินที่เป็น เค-ป๊อป ไป เพราะฉะนั้นการที่มันสําเร็จได้ มันเริ่มจากการค่อยเป็นค่อยไป ค่อย ๆ เรียนรู้แล้วก็เติบโต
มีวิธีเลือกศิลปินมาขึ้นแสดงอย่างไร
ชิมิซุ: จริง ๆ ตัวศิลปินระดับท็อปเองก็ค่อนข้างมีพลังในการดึงดูดคนให้มาดูอยู่แล้ว จริง ๆ Summer Sonic ที่เราจัดในโตเกียวกับโอซาก้า เราก็จะใช้วิธีการแชร์ศิลปินกันแสดงทั้งสองเมือง ซึ่งผมก็มองว่าในอนาคตพอเราได้จัดที่ประเทศไทยด้วย ก็อยากจะทำให้เกิดการแชร์ศิลปินกันทั้งสามที่เลย ทำให้เป็นจุดเด่นของ Summer Sonic
ผมไปงานเฟสติวัลทั่วโลกเยอะมาก ผมชอบไปด้วยตัวเองและได้เรียนรู้ว่าดนตรีของแต่ละที่เป็นอย่างไร ซึ่งนั่นทำให้ผมนำมาปรับใช้กับ Summer Sonic อย่างที่สองก็คือเรามีการติดต่อกับตัวแทนของศิลปินจำนวนมาก บางที่เป็นตัวแทนของศิลปินมากกว่า 50 ศิลปิน ซึ่งศิลปินเหล่านี้คือมาจากทั่วโลกเลย แล้วผมก็จะทำหน้าที่ดูว่าศิลปินคนไหนน่าสนใจอย่างไร วิธีนี้ทําให้ผมเห็นรายชื่อของศิลปินมากขึ้น แล้วก็ทําให้การติดต่อของเรารวดเร็วมากขึ้นด้วย
ในฐานะผู้สร้าง ตั้งเป้าความสําเร็จในปีแรกของ Summer Sonic Bangkok อย่างไร
ชิมิซุ: จริง ๆ ก็อยากให้คนมาเยอะ ๆ อยากให้บัตรขายได้เยอะ ๆ แต่ว่าด้วยความที่เราจัดงานนี้ที่ประเทศไทยเป็นปีแรก แน่นอนมันก็อาจจะยังไม่มีผลงานให้คนเห็น บางคนอาจจะยังไม่มั่นใจว่าจะมาดีไหม บางคนยังมีความลังเลที่จะมา อย่างเรื่องศิลปินที่จะติดต่อให้มาแสดง ก็ผ่านกันหลายขั้นตอน และก็ยังไม่รู้ว่าศิลปินที่เราดีลมานั้นจะมาได้จริง ๆ หรือไม่ เพราะฉะนั้นปีแรก เราเลยไม่ได้เน้นหรือคาดหวังในเรื่องของปริมาณคนที่จะมาร่วมงานว่าจะมากแค่ไหน แต่คงไปเน้นในเรื่องของการสร้างชื่อเสียง และสร้างผลงานเอาไว้เพื่อให้คนเชื่อถือก่อน ซึ่งถ้าทำได้จะทำให้ปีต่อไปมีคนอยากมาดูมากขึ้น และเราจะสามารถดึงศิลปินเบอร์ใหญ่ ๆ เข้ามาเพิ่มได้ด้วย
ภาพของ Summer Sonic ที่ญี่ปุ่น มาพร้อมกับภาพอากาศร้อน ๆ เวทีกลางแจ้ง แต่การย้ายมาจัดในอินดอร์ที่ประเทศไทย กลายเป็นเรื่องแปลกใหม่ของคุณหรือเปล่า
ชิมิซุ: จริง ๆ ครั้งนี้ค่อนข้างท้าทายเราอย่างมาก อย่างแรกเลยครั้งนี้ถูกรีเควสมาให้จัดที่อินดอร์ เพราะว่าเดือนสิงหาคม อากาศที่ประเทศไทยค่อนข้างร้อนมาก เพราะฉะนั้นเราอาจจะต้องเริ่มจากการจัดในอินดอร์ก่อน แต่ผมมองว่าครั้งต่อ ๆ ไป ก็ต้องมาดูเรื่องความเหมาะสมกันอีกที สมมติอยากจะจัดเอาต์ดอร์ขึ้นมาจริง ๆ มันก็ต้องมาดูเหตุผลกันอีกว่า สถานที่จะเป็นที่ไหน รวมถึงเรื่องฤดูกาล มันอาจจะไม่ใช่เดือนสิงหาคมแล้ว อาจจะไปจัดในฤดูอื่นแทน แล้วมันก็เป็นเรื่องของศิลปินที่เราจะเรียกมาด้วย สมมติว่าตอนนั้นศิลปินมาแสดงที่ประเทศไทยในฤดูอื่น เราก็ต้องนําศิลปินกลับไปแสดงที่ญี่ปุ่นด้วยเพื่อให้มันต่อเนื่องกัน แต่ก็อาจจะเป็นในชื่องานอื่น
นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน กล่าวไว้ในงานแถลงข่าวว่า Summer Sonic สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มางานได้มากกว่า 350,000 คน ในฐานะผู้ก่อตั้ง คุณมองว่าเทศกาลดนตรีมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร
ชิมิซุ: ตัวผมเองคิดว่า Summer Sonic มีผลทางด้านเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เพราะว่าทุกปีจะมีแขกจากต่างประเทศเข้ามาที่ญี่ปุ่นเยอะมาก ๆ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็เริ่มหันมาสนใจเรื่องของ Summer Sonic มากขึ้นแล้ว และสำหรับที่นี่ ผมก็คาดหวังเหมือนกันว่าจะมีคนจากประเทศรอบ ๆ เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นจากงาน Summer Sonic
จริง ๆ แล้วในประเทศญี่ปุ่น 300,000 กว่าคนที่มางาน ก็ไม่ได้มาเที่ยวแค่อีเวนต์ของเราอย่างเดียว เพราะตั้งแต่ฮอกไกโดลงมาถึงโอกินาวา เรียกได้ว่าทั่วทุกจังหวัดเขาจะมีเฟสติวัลที่เขาจัดกันเองอยู่แล้ว ผมจึงมองว่ามิวสิกเฟสติวัลคือสิ่งที่ค่อนข้างขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้มากทีเดียว
จะทำอย่างไรให้ Summer Sonic ที่ไทย มีคุณภาพเทียบเท่าที่ญี่ปุ่น
ชิมิซุ: จริง ๆ แล้วอย่างที่ญี่ปุ่นเอง เรามีวิธีจัดการอยู่แล้วว่าอยากให้เวทีอยู่ใกล้กัน ตารางเวลาไล่เลี่ยกัน คือมันเป็นแผนที่เราวางเอาไว้อยู่แล้ว แต่ว่าพอมาทําที่ต่างประเทศมันก็มีข้อยาก ซึ่งสิ่งที่ผมรู้สึกว่าทำได้ยากมาก ๆ เลยก็คือการวางแผนการจัดการตารางเวลา พอไปต่างประเทศมันก็จะมีข้อจํากัดอีกว่า ไม่อยากให้ศิลปินคนนี้มาเล่นซ้อนกับศิลปินคนนั้น อย่างเช่นวงนี้อาจจะเล็ก วงนั้นอาจจะใหญ่ เราก็ไม่อยากให้วงมาขึ้นพร้อมกัน อยากให้วงเล็กมาเล่นก่อน วงใหญ่ไว้เล่นทีหลัง หรืออะไรอย่างนี้ ซึ่งมันก็คือเป็นปัญหาที่ผมต้องจัดการนะครับ ว่าจะทําอย่างไรเพื่อให้ทุกอย่างลงตัว
ที่ญี่ปุ่นเองก็เคยมีปัญหา มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนนั้นวง Oasis ขึ้นเล่นเวลาเดียวกันกับ The Black Crowes ที่โอซาก้า ซึ่งทั้งสองวงดังพอ ๆ กัน แต่คนก็เลือกไปดู Oasis เยอะมากจนคนดู The Black Crowes น้อยแบบหลักไม่กี่พันคน ซึ่งตอนนั้นมันก็เลยกลายเป็นปัญหามีคนดูโกรธเยอะมาก เพราะเขาไม่พอใจที่ไปดูอีกวงไม่ทัน พอมาเล่นที่โตเกียวเราก็ต้องมาจัดการเวลาใหม่ สุดท้ายต้องยอมให้อีกวงขึ้นช้ากว่าเพื่อคนดูจะได้มีโอกาสชมทั้งสองวง
มีเฮดไลเนอร์ในฝันไหม ที่เคยอยากดึงมาขึ้น Summer Sonic แต่ยังไม่มีโอกาสไหม
ชิมิซุ: ทํามา 20 กว่าปี แน่นอนก็มีศิลปินหลายคนที่ผมอยากให้มาครับ อย่างเช่น บรูซ สปริงส์ทีน (Bruce springsteen) ซึ่งเป็นคนที่ผมชอบมานานมาก ๆ หรือว่าจะเป็นวงระดับตํานานอย่าง Queen, สตีวี วันเดอร์ (Stevie Wonder), Prince ซึ่งตลอด 20 ปี มานี้ก็มีอีกหลายคนเลย แต่มันก็มีปัจจัยที่ทำให้เราไปดึงคนเหล่านั้นมาไม่ได้ หรือบางคนก็เสียชีวิตไปก่อนที่จะมีโอกาสได้มาเล่น
สำหรับ SUMMER SONIC BANGKOK จะจัดขึ้นในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2024 ณ อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี โดยจะจัดขึ้นหลังจากงาน SUMMER SONIC TOKYO และ OSAKA หนึ่งอาทิตย์ ตอนนี้เปิดขายบัตรรอบพิเศษแล้ว สามารถติดตามรายละเอียดงานเพิ่มเติมได้ที่ facebook.com/Summersonicbangkok
The post สัมภาษณ์ นาโอกิ ชิมิซุ ผู้ก่อตั้ง ‘Summer Sonic’ กับเบื้องหลังการเนรมิตเทศกาลดนตรี ‘ลูกครึ่งญี่ปุ่น-ไทย’ appeared first on BT beartai.
Credit ข่าวจาก : www.beartai.com/