นี่คงเป็นสัจธรรมที่เราต่างเข้าใจกันดี และสิ่งนี้ก็ได้เกิดขึ้นกับวงดนตรีที่มีอายุกว่า 40 ปีอย่าง “คาราบาว” ตำนานเพลงเพื่อชีวิตของไทย ที่ได้จัดคอนเสิร์ตในวาระครบรอบ 40 ปีในการทำงานของวงดนตรีเพื่อชีวิตระดับตำนานวงนี้ แต่ไม่นานก่อนคอนเสิร์ตจะมีขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แฟน ๆ ต่างก็ได้รับข่าวว่าคาราบาวได้ตัดสินใจแยกวงกันอย่างเป็นทางการ นั่นจึงทำให้คอนเสิร์ตใหญ่ในครั้งนี้กลายเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งสุดท้ายของวงไปโดยปริยาย และด้วยเหตุนี้จึงทำให้แฟน ๆ ทั้งหลายที่ได้ไปรวมตัวกัน ณ อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี ต่างตั้งอกตั้งใจ ใช้หัวใจอยู่กับช่วงเวลานี้อย่างดีที่สุด เพื่อเก็บเกี่ยวความทรงจำครั้งสำคัญเอาไว้ในหัวใจตลอดไป
The post [รีวิวคอนเสิร์ต] “40 ปี คาราบาว” กับ 40 (กว่า) บทเพลงแห่งความประทับใจ ในคอนเสิร์ตส่งท้ายตำนานของวงดนตรีที่คนไทยไม่มีวันลืมเลือน appeared first on #beartai.
“งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา”
“หนังสือมีหน้าแรก ย่อมต้องมีหน้าสุดท้าย”
นี่คงเป็นสัจธรรมที่เราต่างเข้าใจกันดี และสิ่งนี้ก็ได้เกิดขึ้นกับวงดนตรีที่มีอายุกว่า 40 ปีอย่าง “คาราบาว” ตำนานเพลงเพื่อชีวิตของไทย ที่ได้จัดคอนเสิร์ตในวาระครบรอบ 40 ปีในการทำงานของวงดนตรีเพื่อชีวิตระดับตำนานวงนี้ แต่ไม่นานก่อนคอนเสิร์ตจะมีขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แฟน ๆ ต่างก็ได้รับข่าวว่าคาราบาวได้ตัดสินใจแยกวงกันอย่างเป็นทางการ นั่นจึงทำให้คอนเสิร์ตใหญ่ในครั้งนี้กลายเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งสุดท้ายของวงไปโดยปริยาย และด้วยเหตุนี้จึงทำให้แฟน ๆ ทั้งหลายที่ได้ไปรวมตัวกัน ณ อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี ต่างตั้งอกตั้งใจ ใช้หัวใจอยู่กับช่วงเวลานี้อย่างดีที่สุด เพื่อเก็บเกี่ยวความทรงจำครั้งสำคัญเอาไว้ในหัวใจตลอดไป
เป็นเรื่องน่าประทับใจที่เห็นแฟน ๆ ที่รักคาราบาวมารวมตัวกันอย่างเนืองแน่น และบัตรคอนเสิร์ตเองก็ขายหมดเกลี้ยงไปเป็นที่เรียบร้อย แฟนเพลงเรือนหมื่นมากันมากมายทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก (มาก) ได้เห็นเด็กตัวเล็กตัวน้อยมาเต้นข้าง ๆ คุณพ่อคุณแม่ ชูมือชูไม้เป็นรูปหัวควายคาราบาว จนถึงระดับเบบี๋เด็กเดือน ! ก็มีคุณพ่อคุณแม่พามาเย้วด้วย ก่อนงานจะเริ่มก็มีบูธต่าง ๆ ให้แฟน ๆ ได้ทำกิจกรรมทั้งซื้อของที่ระลึก ถ่ายภาพ หรือดื่มด่ำไปกับเครื่องดื่มเย็น ๆ
แฟน ๆ หลายคนมารอตั้งแต่ช่วงบ่าย พอคล้อยเย็นวงปาป้าเบนซ์ (Papa Benz) วงเปิดก็ขึ้นมาเล่น วงดนตรีทรีโอที่มีแค่ 3 สมาชิก ร้อง-กีตาร์ เบส และกลอง แต่ก็สร้างความประทับใจในทุกท่วงทำนอง บรรเลงได้อย่างชวนเพลิดเพลิน นับว่าเป็นการอุ่นเครื่องให้กับแฟน ๆ คาราบาวได้เป็นอย่างดี
เมื่อพูดถึงคาราบาวแล้ว คำว่า “ตำนาน” ที่ใครต่อใครต่างมอบให้ ไม่ใช่อะไรที่เกินเลย คาราบาวได้สร้างสรรค์บทเพลงอมตะไว้เป็นร้อยเป็นพัน เชื่อได้เลยว่าเราต่างก็มีเพลงของคาราบาวอยู่ในช่วงชีวิตทั้งหลายของเรา เป็นเพลงประกอบชีวิตในแต่ละมิติ แต่ละช่วงวัย แตกต่างกันออกไป ในแง่ดนตรีเพลงของคาราบาวมีทั้งความสนุกสนาน ความขี้เล่น ความจริงจัง สุขุม ลุ่มลึก และเฉียบคม ท่วงทำนองติดหู ผสมผสานแนวดนตรีที่หลากหลายทั้งโฟล์ก ร็อก คันทรี เฮฟวี่ เร็กเก และอีกมากมาย ที่สำคัญคือคาราบาวสามารถผสมผสานดนตรีสากลแบบตะวันตกเข้ากับกลิ่นอายความเป็นไทยได้อย่างลงตัวและเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ มีการใส่สำเนียงเสียงดนตรีพื้นบ้านและนำเครื่องดนตรีท้องถิ่นของไทยเข้ามาปรับใช้ได้อย่างลงตัว ส่วนในด้านเนื้อหานั้น เพลงของคาราบาวก็เล่าเรื่องราวความเป็นไปของชีวิตผู้คนในสังคมไทยได้อย่างเฉียมแหลม หลายบทเพลงเป็นเสมือนบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์บ้านเมือง หลายบทเพลงแฝงไว้ด้วยแง่มุมเชิงปรัชญาให้เราได้ใช้เวลาครุ่นคิดไตร่ตรอง ทั้ง ๆ มีเนื้อหาลุ่มลึกและลึกซึ้งและเข้าถึงคนฟังได้ง่าย อาจเพราะเพลงของคาราบาวมีความละเมียดละไมและใช้ภาษาที่เรียบง่ายบนความสละสลวยไพเราะ นั่นจึงทำให้ใครต่อใครก็สามารถเข้าถึงบทเพลงของคาราบาวได้
ปัจจุบันวงคาราบาวมีสมาชิกทั้งหมด 8 คน ได้แก่ แอ๊ด ยืนยง โอภากุล, เล็ก ปรีชา ชนะภัย, เทียรี่ สุทธิยงค์ เมฆวัฒนา, อ๊อด เกริกกำพล ประถมปัทมะ, ดุก ลือชัย งามสม, หมี ขจรศักดิ์ หุตะวัฒนะ, โก้ อัทธนันต์ ธนอรุณโรจน์ และ อ้วน ธนะสิทธิ์ พันธุ์พงษ์ไทย และคาราบาวทั้ง 8 ก็พร้อมแล้วที่จะมามอบความสุขให้กับแฟน ๆ คนไทยผู้มีหัวใจรักควายคาราบาว
ช่วงแรก โหมโรงความมันส์
เมื่อถึงเวลา 19.09 นาที แสงไฟก็ดับลง ภาพเคลื่อนไหวปรากฏบนหน้าจอ LCD ขนาดยักษ์ที่ถูกจัดวางไว้ด้านข้างเวทีทั้งสองด้าน VTR อินโทรเข้าสู่คอนเสิร์ตในครั้งนี้ได้เริ่มขึ้น ผลงานเพลงของคาราบาวถูกนำเสนอผ่าน VTR เห็นถึงพัฒนาการของวงและเทคโนโลยีบันทึกเสียงไปในเวลาเดียวกัน เริ่มตั้งแต่อัลบั้มแรกในรูปแบบม้วนเทป มาสู่ซีดี และจบลงที่บัตรคอนเสิร์ต 40 ปีคาราบาวในที่สุด เสียงเฮดังลั่นฮอลล์อิมแพค
เมื่อกวาดสายตาจากหน้าจอมาสู่กลางเวที เห็นร่างของชายคนหนึ่งและกีตาร์ของเขาปรากฏตัวขึ้นภายใต้แสงไฟที่สาดส่องลงมา โดยที่รอบข้างยังคงอยู่ภายใต้ความมืด เขาคือ “ยืนยง โอภากุล” หรือที่เรารู้จักกันว่า “แอ๊ด คาราบาว” ฉากบนเวทีค่อย ๆ สว่างขึ้นพร้อมเสียงดนตรีแรกของวงคาราบาวที่กำลังถูกบรรเลงโดยแอ๊ด คาราบาว
“จากสุพรรณมากับรถไปรษณีย์
สตางค์พอมีแต่จำต้องประหยัด
เข้าสู่เมืองกรุงมุ่งมาเป็นเด็กวัด
ได้ข้าวก้นบาตรหล่อเลี้ยงชีวี”
เสียงกีตาร์ดังคลอไปกับเนื้อเพลงท่อนแรกของโชว์นี้ ในบทเพลง “40 ปีคนคาราบาว” บทเพลงที่คล้ายเป็นการอินโทรเรื่องราวและกล่าวถึงวิถีของวงดนตรีที่ชื่อ ‘คาราบาว’
สมาชิกในวงค่อย ๆ ปรากฏตัวขึ้นเมื่อเนื้อเพลงได้กล่าวถึง “เลยได้เพื่อนใหม่เป็นนักดนตรี สูงยาวเข่าดี ปรีชา ชนะภัย” ทันใดเล็ก คาราบาว มือกีตาร์หนวดสวยก็ปรากฏขึ้นมาบนเวทีพร้อมกีตาร์ตัวเก่งของเขา “เต้นกินรำกินเป็นศิลปินไส้แห้ง กลางคืนแสดงวงเพรสซิเดนท์เล่นเพลงฝรั่ง กลางวันแสดงโรงแรมนานาแนวคันทรี กับคุณเทียรี่ สุทธิยง เมฆวัฒนา” แล้วเทียรี่ มือกีตาร์หน้าหยกของวง ก็ก้าวขึ้นมาเป็นคนต่อไป
“เพราะลมหายใจเข้าออกเป็นเพื่อชีวิต
เพราะลมหายใจเข้าออกคือคาราบาว”
“40 ปีแล้ว ยังขอตอกย้ำ
จะก้มหน้าทำหน้าที่ ฅนคาราบาว”
บทเพลงได้บอกเล่าความเป็นมาและการโคจรมาพบกันของสมาชิกในวง อีกทั้งยังตอกย้ำปณิธานของวงดนตรีที่ชื่อคาราบาว นับเป็นบทเพลงที่ดีสำหรับการเปิดคอนเสิร์ตครั้งสำคัญนี้ ท่วงทำนองเริ่มต้นด้วยความอบอุ่น ก่อนที่จะมาสู่จังหวะสามช่าอันสนุกสนานที่เป็นลายเซ็นของวงคาราบาว ปลุกเร้าแฟนเพลงให้เพลิดเพลินไปกับโชว์นี้
หลังจากบทเพลงแรก จากลิสต์เพลงทั้งหมด “40 เพลง” ของคอนเสิร์ตนี้ได้จบลง คาราบาวก็ได้จัดชุดเพลงฮิตสุดมันส์มาอย่างต่อเนื่องไม่ยั้ง ไม่ว่าจะเป็น “บางระจัน” บทเพลงแรกที่โหมโรงความมันส์ได้อย่างดุเดือด ทั้งแสง สี เสียง บนเวทีที่ดีไซน์มาอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ (และหลังจากนี้มีอีกหลาย ๆ เพลงเลยที่ LCD บนเวที ตรงกลางหนึ่ง และแนวตั้ง 6 ตัว ข้างละ 3 ได้ดีไซน์ความงามและอารมณ์ของแต่ละบทเพลงออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม) นอกจากนี้ยังมีเปลวเพลิงปะทุ พลุ และเสียงระเบิด มาสร้างบรรยากาศและอารมณ์ได้อย่างสุด นาทีนี้ไม่มีใครนั่งติดเก้าอี้แล้ว ลุกขึ้นมาเต้นและชูมือรูปหัวควายคาราบาวและร้องตามกันอย่างพร้อมเพรียง
จากนั้นแอ๊ด คาราบาวก็เล่าประวัติความเป็นมาที่น่าตื่นเต้นของเจ้ากีตาร์ตัวเก่งของ เล็ก คาราบาว ที่ซื้อต่อมาจากเพื่อนและเคยใช้ถ่ายในหนังเรื่อง “เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ” (ภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2528 นำแสดงโดยคาราบาวทั้งวง) และถูกขโมยไปเป็นเวลาเกือบ 40 ปี จนตามกลับมาได้ในที่สุด ซึ่งความสำคัญของกีตาร์ตัวนี้ในประวัติศาสตร์วงคาราบาวก็คือ มันเป็นกีตาร์ที่ใช้อัดเสียงในเพลง “วณิพก” และนี่ก็คือบทเพลงต่อไปที่คาราบาวได้ขับขานให้เราฟังกันอย่างสนุกสนาน และมันช่างชื่นใจที่ได้ฟังเสียงโซโล่กีตาร์โดย เล็ก คาราบาว จากกีตาร์ตัวเก่งที่มีเรื่องราวความเป็นมาตัวนี้
ต่อมาคาราบาวได้พาเราเข้าสู่บรรยากาศของคอนเสิร์ตครั้งประวัติศาสตร์ ‘ทำโดยคนไทย’ คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของคาราบาว จัดขึ้นที่สนามกีฬาเวโลโดรม เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2528 ด้วยบทเพลง “เมด อิน ไทยแลนด์” ที่ธนะสิทธิ์ พันธุ์พงษ์ไทย หรือ อ้วน คาราบาว มือกลองของวง รับหน้าที่บรรเลงเสียงขลุ่ยในบทเพลงอันยอดเยี่ยมนี้ของคาราบาว
เพื่อความเป็นสิริมงคลของบรรดาแฟน ๆ คาราบาวได้ต่อด้วยบทเพลง “หลวงพ่อคูณ” ให้แฟน ๆ ได้ร้องตามลั่นไปกับท่อน “ชั่วดีอยู่ในกะโหลก มาเขกโป๊ก ๆ จำไว้ให้ดี” บทเพลงนี้แต่งโดย พยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ซึ่งใส่เนื้อร้องที่แสดงให้เห็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและหลักธรรมคำสอนของ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ แห่งวัดบ้านไร่ได้อย่างชัดเจน
จากนั้นก็มันส์กันอย่างต่อเนื่องกับ “ราชาเงินผ่อน” ในจังหวะสามช่าสุดสนุกและเนื้อร้องที่บอกเล่าวิถีของผู้คนในโลกทุนนิยมได้เป็นอย่างดี เพลงนี้ร้องโดย อ้วน คาราบาว
มาสนุกกันต่อกับ “ซาอุดรฯ” บทเพลงสะท้อนยุคสมัยที่แรงงานไทยนิยมไปทำงานเมืองเศรษฐีน้ำมัน จากนั้นก็มาออกทะเลไปกับ “เฒ่าทะเล” ที่ร้องโดย เล็ก คาราบาว
ต่อด้วย “หำเทียม” เพลงโปรดของใครหลาย ๆ คน หนึ่งในเพลงที่มีอารมณ์สนุกสนานและน่ารัก และเป็นหนึ่งในเพลงของคาราบาวที่ถูกแบนหรือถูกสั่งห้ามเปิดโดย กบว. ในยุคนั้น
จากนั้นแอ๊ด คาราบาวก็กล่าวเปิดเพลงต่อมา โดยเท้าความถึงเหตุการณ์ประทับใจแต่หนหลังที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำวงดนตรี
“วง V.I.P. มาเล่นที่โรงหนังสกาลา ผมก็ไปยืนเกาะรั้วดูวงดนตรีต้นแบบที่ทำให้พวกเราเป็นวันนี้นะครับ ขอร้องเพลงให้กับพี่แหลม มอริสิน กีตาร์คิงส์สักเพลงครับพี่น้องครับ” และแล้วท่วงทำนองของบทเพลง “กีตาร์คิงส์” บทเพลงที่แสดงความคารวะต่อมือกีตาร์ระดับตำนานของไทย แหลม มอริสิน ก็ดังขึ้นมา
ต่อกันด้วย “คนล่าฝัน” บทเพลงให้กำลังใจคนที่ท้อให้ขอมีพลังและแรงใจไฟฝัน เพื่อให้มีกำลังเดินหน้าตามล่าความฝันต่อไป จากนั้นก็เข้าสู่ช่วงเพลงที่ร้องโดยสมาชิกคนอื่น เริ่มด้วย “สัญญาหน้าฝน” (แบบสามช่า) ที่ร้องโดย อ้วน คาราบาว ที่ตีกลองไปร้องไปได้ม่วนแท้ จากนั้น “คนขี้โกง” ร้องโดย เทียรี่ คาราบาว ก็เป็นเพลงต่อมา ต่อด้วย “บาปบริสุทธิ์” ที่ร้องโดย เล็ก คาราบาว เพลงนี้ฟังปกติก็ว่าเพราะแล้ว พอได้มาฟังสด ๆ วันนี้รู้สึกมันมีพลังและ เล็ก คาราบาว ก็ถ่ายทอดออกมาได้ดีมาก ๆ
จากนั้นแสงบนเวทีก็ดับลง และ VTR ตัวที่ 2 ก็ถูกเปิดขึ้นมา สมาชิกวงคาราบาวแต่ละคนได้พูดความในใจถึงวงดนตรีที่ตัวเองผูกพันและอยู่ด้วยกันมาเกือบทั้งชีวิต พร้อม ๆ กับการไล่ย้อนประวัติศาสตร์ของวงด้วยภาพที่บันทึกจากช่วงเวลาทั้งหลายบนเส้นทางดนตรีของคาราบาวจากปีปัจจุบันและไปหยุดตรงที่ปี “พ.ศ. 2524” อันเป็นปีที่ประวัติศาสตร์ของวงดนตรีที่ชื่อคาราบาวได้เริ่มต้นขึ้น
ช่วงโฟล์ก
จากนั้นคาราบาวก็พาเราเข้าสู่บรรยากาศอันนุ่มนวล อบอุ่น สบาย ๆ ในสไตล์อะคูสติกกับบทเพลง “ลุงขี้เมา” ผลงานเปิดตัวของคาราบาวในปี พ.ศ. 2524 จากอัลบั้มชุดแรก “ขี้เมา” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเพลง “Anak” (เป็นคำในภาษาตากาล็อกแปลว่า “ลูก”) ที่ร้องและแต่งโดย เฟรดดี้ อากีลาร์ (Freddie Aguilar) บทเพลงดังที่ทำลายสถิติของฟิลิปปินส์ในปี 1979 และยังขึ้นสู่อันดับ 1 ในญี่ปุ่นและได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศอื่น ๆ เช่น แองโกลา ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฮ่องกง และบางส่วนของยุโรปตะวันตก ท่วงทำนองของเพลงนี้ได้ถูกนำมาผสานเข้ากับเนื้อร้องที่แต่งโดย แอ๊ด คาราบาว กลายเป็น “ลุงขี้เมา” เพลงนี้โดนใจคอเพลงตัวจริงในยุคนั้นทันที เพราะท่วงทำนองที่มีความละเมียดละไมไพเราะและเนื้อร้องที่มีความลึกซึ้งกินใจ
ตอนนี้คอนเสิร์ตก็ก้าวเข้าสู่เซ็ตเพลงช่วงโฟล์กซองอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาราบาวตั้งใจนั่งไปคุยไปในบรรยากาศสบาย ๆ แต่พอเข้าเพลงที่ 3-4 ของลิสต์แฟนเพลงก็ลุกขึ้นมาเต้นกันต่อละ
‘มาจากสุพรรณ มากรุงเทพฯ โดนเพื่อนล้อ อาศัยวัดอยู่ ไม่มีเงิน ไปทานข้าวหมูแดง ก็ซัดหอมหมดถ้วย ต่อมาเฮียเจ้าของร้านเลยไม่ยอมขายให้’ นี่คือเรื่องเล่าชีวิตของ แอ๊ด คาราบาว เมื่อครั้งเดินทางเข้ามาสู่เมืองกรุง เกริ่นนำเข้าสู่บทเพลงต่อไปคือ “ตุ๊กตา” บทเพลงแรกในโชว์นี้ที่เราได้ยินท่วงทำนองจากเครื่องดนตรีสำคัญของดนตรีโฟล์กอย่างเมาท์ออร์แกนที่เป่าโดย แอ๊ด คาราบาว ต่อด้วยเสียงร้องขับขานประสานกันของเล็กและเทียรี่ คาราบาว ในเพลง “ลูกรอ” และมาสู่ลำนำของขลุ่ยไม้ไผ่ในเพลง “ไม้ไผ่” กับท่อนโซโล่สุดว้าวจากเสียงกีตาร์โปร่งของ เล็ก คาราบาว ผสานขลุ่ยจาก อ้วน คาราบาว
จากนั้นก็มาถึงหนึ่งบทเพลงสุดคลาสสิกของคาราบาว “คนเก็บฟืน” นำพาผู้ฟังสู่ช่วงเวลาเชิงปรัชญาที่ให้เราได้ปล่อยกายปล่อยใจไหลไปกับท่วงทำนองและเนื้อร้องที่ชวนขบคิดใคร่ครวญถึงความหมายของชีวิต แน่นอนว่ามาฟีลนี้แล้วก็ต้องต่อด้วย “ทะเลใจ” บทเพลงอันไพเราะ เรียบง่ายที่มาพร้อมความหมายสุดลึกซึ้งหนึ่งในเพลงในดวงใจของแฟนเพลง
“เพลงต่อไปนี้คือเพลงที่ผมตั้งใจ จะให้พี่น้องช่วยกันร้องเพราะว่าเพลงนี้เราเคยร้องกันเป็นหมู่ ‘ชีวิตสัมพันธ์’ ครับ”
“ชีวิตสัมพันธ์” คือบทเพลงต่อมาอันเป็นบทเพลงที่เพื่อนพ้องน้องพี่ศิลปินเพื่อชีวิตร่วมร้องกันในคอนเสิร์ตตำนานของวงการเพลงไทย “คอนเสิร์ตชีวิตสัมพันธ์ สายธารสู่อีสานเขียว” เมื่อปี พ.ศ. 2530 แม้ในครั้งนี้จะแม้ไม่มีศิลปินมากมายมาร่วมร้องเช่นครั้งนั้น แต่แฟน ๆ ก็ช่วยกันร้องบทเพลง ‘เชิงนิเวศ’ ที่ไพเราะละมุนละไมของคาราบาวเพลงนี้จนเสียงกระหึ่มดังไปทั้งฮอลล์อิมแพค ก่อนจะจบช่วงโฟล์กลงอย่างงดงาม
จากนั้นแสงของเวทีก็ได้ดับลง VTR ตัวที่ 3 ปรากฏขึ้นมาบนหน้าจอเพื่อทำหน้าที่เชื่อมต่อช่วงเวลาและอารมณ์ไปสู่ช่วงต่อไป “คุณคือใคร… ไม่สำคัญ เพราะเราทุกคนชอบในสิ่งเดียวกัน เพราะเราทุกคนคือแฟนเพลงคาราบาว” ข้อความปรากฏขึ้นมาเพื่อบอกกับแฟน ๆ ว่าทุกคนคือคนสำคัญ คือครอบครัวคาราบาว ก่อนที่สมาชิกในวงแต่ละคนจะมากล่าวคำขอบคุณและพูดถึงแฟน ๆ ผ่าน VTR ตัวนี้
ช่วงที่ 3 บทเพลงใหม่ผสานเพลงเก่าคลาสสิก
เข้าสู่พาร์ตที่ 3 ของโชว์ด้วยบทเพลง “ดอกไม้กับผีเสื้อ” จากอัลบั้มชุดใหม่ ‘40 ปี ฅนคาราบาว’ ร้องโดย เล็ก คาราบาว จากนั้น แอ๊ด คาราบาว ก็กล่าวเปิดเพลงต่อมา โดยเล่าว่าลูกเล่นสำคัญของเพลงนี้อยู่ที่การมีตัวเลขซ่อนอยู่ในเพลงมากมาย และเคยทำให้คนถูกหวยจากเลข “66” เพลงนี้ก็คือ “ยอดมนุษย์ 2 %” เพลงอารมณ์บลูส์ ที่สะท้อนความเป็นจริงของโลกและสัจธรรมของชีวิตผ่านตัวเลขได้อย่างน่าสนใจ
บทเพลงต่อมาคือ “แม่สาย” หนึ่งในเพลงที่เป็นลายเซ็นของ เทียรี่ คาราบาว เป็นหนึ่งในเพลงเศร้าของคาราบาวที่มีความไพเราะและลึกซึ้ง แฟนเพลงร้องตามกันสุดเสียงไปเลย
ต่อกันด้วย “ลุงฟาง” บทเพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ” ชายผู้ที่กลับคืนสู่วิธีธรรมชาติด้วยการทำนาโดยไม่ต้องทำนา เก็บเวลาไว้คุยกับตะวัน ผู้เขียนหนังสือ “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว”
จากนั้นคาราบาวก็พักทักทายแฟน ๆ ทั้งใกล้และไกลในฮอลล์อิมแพค “ได้ยินผมชัดไหมครับ เสียงชัดเจนนะครับ เดี๋ยวมาร้องเพลงรักกับผมสักเพลง” และเข้าสู่บทเพลง “รักต้องสู้” และมาต่อกันที่ “นางงามตู้กระจก” อีกหนึ่งเพลงฮิตของวงและเสียงร้องในบทเพลงที่เป็นลายเซ็นของ เทียรี่ คาราบาว
และก็กลับมามันส์กันต่อกับเพลง “เจ้าตาก” หนึ่งในเพลงสุดมันส์ของคาราบาวที่มาพร้อมแสง สี เสียงและเอฟเฟกต์แบบจัดเต็ม งานนี้ไม่มีใครนั่งติดเก้าอี้แล้ว ! จากนั้นก็มาที่เพลงโจ๊ะ ๆ เต้นกันสนุก ๆ กับ “รักทรหด” ต่อด้วย “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” เพลงนี้มีเซอร์ไพรส์ระหว่างที่เพลงกำลังบรรเลง ก็มีธนบัตร 40 ปีคาราบาวถูกโปรยลงมาจากเบื้องบนให้แฟน ๆ ได้เก็บกลับบ้านเป็นที่ระลึก
ธนบัตรยังลอยลงมาอย่างช้า ๆ ไม่หยุด เพลงต่อมาก็เข้ามาต่อเลยกับ “คนหนังเหนียว” เพลงแสบ ๆ คัน ๆ เปี่ยมอารมณ์ขันที่เล็กและเทียรี่ คาราบาว ร้องโต้ตอบกัน จากนั้นก็มาต่อที่ “วิชาแพะ” และเพลงในสไตล์ร็อกแอนด์โรล “บิ๊กสุ”
แล้วก็มาเพลิดเพลินกันต่อกับเพลง “กระถางดอกไม้ให้คุณ” เพลงน่ารัก ๆ ประจำตัวของ เกริกกำพงษ์ ประถมปัทมะ หรือ อ๊อด คาราบาว ที่เล่นเบสไปร้องไปได้อย่างน่าเอ็นดู
จากนั้นก็เปลี่ยนเวทีให้กลายเป็นเสมือนอควาเรียมใน “รั้วทะเล” และต่อด้วย “หลงวัฒน์” เพลงที่สะท้อนช่วงเวลาที่คนไทยหลงในวัฒนธรรมต่างชาติจนลืมของดีของไทย
“บทเพลงต่อไปนี้คือเพลงที่แต่งเพื่อพี่น้องคาราบาวที่ไปอยู่กับพระเจ้า” แอ๊ด คาราบาว กล่าวนำไปสู่บทเพลงใหม่ “คาราบาวในโลกของพระเจ้า” บทเพลงรำลึกถึงบรรดาสมาชิกของคาราบาวที่จากไป บนเวทีได้ฉายใบหน้าของสมาชิกคาราบาวทั้งหลายให้ได้อยู่ร่วมเวทีไปกับ 8 สมาชิกในปัจุบัน
ช่วงสุดท้าย ความในใจจากควายเฒ่าคาราบาว
เมื่อจบเพลงนี้แสงบนเวทีก็ดับลงอีกครั้ง เข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญกับ VTR บอกเล่าเรื่องราวของวงดนตรีที่ชื่อคาราบาว จากจุดเริ่มต้น บันทึกหน้าแรกของเรื่องราว ผ่านหน้าประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ของตำนานคาราบาว จนมาถึงบันทึกบทสุดท้ายในปีนี้ที่วงคาราบาวได้ประกาศแยกย้ายยุบวงอย่างเป็นทางการ ทุกคนกลับมาบนเวทีอีกครั้ง กับช่วงเวลาที่สมาชิกแต่ละคนได้บอกความในใจที่มี ได้พูดแสดงความรู้สึกที่มีต่อแฟน ๆ ผู้ชม และการเดินทางบนเส้นทางสายดนตรีกับคาราบาวมาอย่างยาวนาน
หมี คาราบาว ก็ได้กล่าวขอบคุณวงและแฟน ๆ “ส่วนตัวผมนะครับ ผมรักคาราบาว เหมือนที่ทุกคนรัก ไม่เคยเปลี่ยนแปลงครับ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือผมขอขอบคุณวงคาราบาวและพี่ ๆ เพื่อน ๆ ทุกคนครับ”
ส่วน อ้วน คาราบาว ก็กล่าวถึงความรู้สึกประทับใจที่ได้เป็นสมาชิกวงคาราบาวเมื่อ 22 ปีก่อน “ที่ผมตั้งใจใส่ชุดขาวเหมือนนักเรียนแบบนี้ เพราะเมื่อ 22 ปีที่แล้วผมได้มีโอกาสเล่นกับคาราบาวในตอนที่วงมีอายุ 20 ปี ที่ผมปักไว้บนอกเสื้อด้านซ้ายก็คือปีที่ผมเข้ามาเป็นสมาชิกวงคาราบาว ปี 2543 ครับผม”
ดุก คาราบาว กล่าวขอบคุณสมาชิกในวงและ “พี่เล็ก คาราบาว ที่เป็นผู้ชักนำเข้ามาสู่วงคาราบาวและพี่แอ๊ด คาราบาว ที่ดูแลผมมาเป็นอย่างดีกว่า 32 ปีครับ” ก่อนจะกล่าวต่อด้วยแววตาที่เอ่อคลอไปด้วยน้ำตาว่า “แต่ว่างานเลี้ยงต้องมีวันเลิกลา ควายฝูงนี้ก็ต้องมีวันแยกทางกันไป อายุพวกเราก็เยอะมากแล้วครับ สำหรับผมก็ 71 แล้วครับปีนี้ ก็ไม่รู้จะพูดอะไรแล้วครับ มันตื้นตันครับ ขอบคุณครับ”
โก้ คาราบาว ออกมากล่าวด้วยน้ำเสียงกระฉับกระเฉง “วันนี้รู้สึกตื่นเต้นนิดหน่อยเพราะไม่เคยพูดแบบนี้ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณวงคาราบาวที่เอาผมมาเล่นด้วย” ก่อนที่ แอ๊ด คาราบาว จะแซวป๋าโก้ที่กำลังตื่นเต้นและถามว่า “ปีนี้ป๋าอายุเท่าไหร่แล้ว” ผู้ถูกถามมีสีหน้ายิ้มแย้มอารมณ์ดีพลางตอบกลับมาว่า “จะบอกทำไมเล่า แค่ 75 เอง” ทำเอาแฟน ๆ ส่งเสียงกรี๊ดเชียร์กันใหญ่ เป็นโมเมนต์ที่น่ารักดี จากนั้น โก้ คาราบาว ก็กล่าวขอบคุณแฟน ๆ ทุกคนและแฟนเพลงที่มาชมคอนเสิร์ตในวันนี้
อ๊อด คาราบาว เป็นคนต่อไปที่กล่าวขอบคุณ เล็กและแอ๊ด คาราบาว ที่ชักชวนมาอยู่วง พร้อมทั้งคำขอบคุณพิเศษถึงที่มาที่ไปของบทเพลงอันเป็นที่จดจำ “อีกเรื่องนึงก็คือขอบคุณพี่เล็กที่เล่าเรื่องกระถางดอกไม้ให้คุณ และก็พี่แอ๊ดแต่งเพลง พี่เล็กทำเพลง จนเป็นเพลงลายเซ็นของผม” ก่อนจะกล่าวขอบคุณแฟนเพลงและทีมงานทุกคน และทิ้งท้ายไว้อย่างซาบซึ้ง “ส่งที่อยากจะบอกในใจ ผมชอบเล่นดนตรี และเดือนเมษานี้ก็อดเล่นดนตรีแล้ว ก็ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นยังไง วันสุดท้ายของชีวิตจะเป็นยังไง แต่วันนี้ต้องขอขอบคุณทุก ๆ คน ขอบคุณทีมงานทุก ๆ คน ขอบคุณแฟนพลงทุก ๆ คนครับ ลาก่อนครับ สวัสดีครับ”
เทียรี่ คาราบาว ออกมากล่าวต่อด้วยท่าทีเปี่ยมอารมณ์ขัน กล่าวขอบคุณวงและแฟนเพลง พร้อมทั้งบอกว่าอย่าเรียกพวกเขาว่า ‘ศิลปินในตำนาน’ “ห้ามเรียกพวกเราว่าศิลปินในตำนาน ต้องเรียกว่าศิลปินหน้าใหม่ เพราะได้เวลาไปทำหน้าใหม่แล้ว” (หัวเราะ)
เล็ก คาราบาว ใช้บทเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อการนี้ถ่ายทอดความรู้สึกที่มีออกมา ในเพลงที่มีชื่อว่า “วิถีควายเฒ่า”
“บัดนี้ถึงเวลาแยกย้าย ควายเอ๋ย ควายเฒ่าคาราบาว”
ไปเถิดไปพี่น้องจงไปดี ตามวิถีควายเฒ่าเล่าเรื่องราว
จากกันนั้นเป็นธรรมดา อนิจจาไม่จากเป็นก็จากตาย
ค.ควายรับใช้ค.คน อยู่บนหนทางสายดนตรี”
แอ๊ด คาราบาว ออกมากล่าวเป็นคนสุดท้าย เล่าถึงเส้นทางชีวิตที่เต็มไปด้วย “เสียงดนตรี” ของตน ตั้งแต่ออกจากสุพรรณมาสู่กรุงเทพ ฯ ได้เดินทางไปยังฟิลิปปินส์ พบแรงบันดาลใจและได้กลั่นทุกอย่างออกมาเป็นคาราบาว ก่อนจะบอกถึงสิ่งที่ตั้งใจจะทำต่อไป “หลังจากหยุดวงคาราบาวแล้ว สิ่งที่ผมจะทำต่อก็คือ เป็นคนแต่งเพลง ผมชอบแต่งเพลง และเป็นสิ่งเดียวที่ผมทำได้ คือเล่นดนตรีก็ไม่ได้เก่ง ร้องเพลงก็ไม่ได้เพราะ แต่สิ่งที่ผมเขียนออกมาจากความรู้สึก ได้ฝากผลงานไว้ให้กับวงคาราบาวนั้น ผมคิดว่ามันจะอยู่ต่อไปอีกร้อย ๆ ปี ถึงแม้พวกเราจะไม่อยู่แล้ว แต่บทเพลงของพวกเราจะยังอยู่ต่อไป”
และมันก็เป็นเช่นที่คาราบาวได้กล่าวไว้ว่า “บนหนทางแห่งตัวโน้ตไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียว” บนเส้นทางสายดนตรีมีเรื่องราวและผู้คนมากมายหลายหลาก เข้ามาผสานสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกวงหรือว่าแฟนเพลง ทั้งหมดทั้งมวลต่างเชื่อมร้อยใจด้วยเสียงดนตรี และในช่วงเวลานี้ทั้งคาราบาวและแฟนเพลงต่างตระหนักดีถึงสัจธรรมแห่งการพบ พราก จาก จร ทุกการเดินทางมีจุดเริ่มต้นก็ต้องมีจุดสิ้นสุด และในตอนนี้ทุกคนกำลังอยู่บนหลักหมายสุดท้ายของเส้นทางดนตรีที่ควายคาราบาวได้ดุ่มเดิน น้ำเสียงสั่นเครือและนัยน์ตาคลอน้ำตา แววตาแห่งความผูกพัน ต่างถูกแสดงออกมาผ่านสมาชิกในวงและแน่นอนว่าช่วงเวลานั้นอารมณ์แห่งความรัก ความผูกพัน ความตื้นตันก็เกิดขึ้นกับแฟนเพลงด้วยเช่นกัน มองไปทางไหนก็เห็นน้ำในตามาเอ่อคลอแววตาของบรรดาแฟนเพลง
และแน่นอนว่าหลังจากช่วงเวลาแห่งความเศร้าซึ้งแล้วก็ต้องมาปลุกอารมณ์ชุบชูใจให้สนุกด้วยบทเพลงฮิตที่สุดตลอดกาลที่หลายคนคงเดาได้ไม่ยากว่าจะต้องถูกนำมาเล่นปิดโชว์อย่างแน่นอนบทเพลงนั้นก็คือ “บัวลอย” จบบทเพลงที่ 40 ปิดตำนานวงคาราบาวกับ “คอนเสิร์ต 40 ปีคาราบาว” ที่ถึงแม้โชว์จะจบแต่อารมณ์แฟน ๆ ยังไม่จบ ยังคงรอคอยให้ศิลปินที่ตนเองรักออกมาเล่นต่อไป อย่างน้อยอีกสักเพลงก็ยังดี ที่จะได้ยินเสียงดนตรีและเสียงขับขานบทเพลงจากคาราบาว
ภายในเวลาไม่นานความปรารถนาของแฟน ๆ ก็เป็นอันสมหวัง คาราบาวกลับมาอีกครั้งเพื่อส่งแฟนเพลงกลับบ้านโดยปลอดภัยและพกพาความประทับใจกับความทรงจำดี ๆ กลับบ้านไปด้วย พวกเขาเลือกบทเพลง “มนต์เพลงคาราบาว” เพลงเปิดการแสดงเมื่อครั้งอดีต ให้เป็นบทเพลงที่ 41 ที่เกินมาจากลิสต์ที่ตั้งใจไว้ในโชว์นี้ และปิดท้ายด้วย “กัญชา” เพลงที่ แอ๊ด คาราบาว ร้องทอดเสียงยาวที่สุดและทรงพลังสุด ๆ แม้กระทั่งขวบปีนี้เสียงของ แอ๊ด คาราบาว ที่ขับขานบทเพลงนี้ก็ยังน่าประทับใจไม่มีเปลี่ยนแปลง 2 บทเพลงส่งท้ายกลายเป็นช่วงเวลาสุดพิเศษที่คาราบาวมอบให้กับแฟน ๆ
เมื่อเพลงสุดท้ายของคอนเสิร์ต 40 ปีคาราบาว เพลงสุดท้ายในคอนเสิร์ตประวัติศาสตร์ของวงดนตรีเพื่อชีวิตไทยได้จบลง แฟนเพลงก็ได้พกพาความทรงจำและความประทับใจที่ไม่มีวันลืมเลือน พร้อมคำมั่นสัญญาจากวงคาราบาวเป็นความหวังเอาไว้ให้แฟน ๆ ได้ดีใจว่าไม่แน่ในอีก 3 ปีข้างหน้าเราอาจจะได้กลับมาพบกันใหม่กับ “คอนเสิร์ตครบรอบ 45 ปี คาราบาว”
The post [รีวิวคอนเสิร์ต] “40 ปี คาราบาว” กับ 40 (กว่า) บทเพลงแห่งความประทับใจ ในคอนเสิร์ตส่งท้ายตำนานของวงดนตรีที่คนไทยไม่มีวันลืมเลือน appeared first on #beartai.
Credit ข่าวจาก : www.beartai.com/