
กระแสการแบน TikTok โดยหลายประเทศทั่วโลกทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกิดคำถามที่ว่าแท้จริงแล้ว TikTok อันตรายเหมือนที่กลัวจริงหรือไม่
The post จริงหรือที่ TikTok ส่งข้อมูลผู้ใช้ให้รัฐบาลจีน จนหลายประเทศรุมแบน appeared first on #beartai.
ในช่วงที่ผ่านมา TikTok แพลตฟอร์มสัญชาติจีน เผชิญการปิดกั้นจากหลายประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่ออกมาตรการห้ามใช้งาน TikTok บนอุปกรณ์ของรัฐ รวมถึงการห้ามไม่ให้มีบัญชีทางการของเจ้าหน้าที่รัฐบนแพลตฟอร์ม
การแบน TikTok ลามไปถึงประเทศอื่น ๆ อย่าง แคนาดาและไต้หวัน ที่ออกมาตรการในลักษณะเดียวกัน ขณะที่ เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ที่ก็กำลังหารือแนวทางการแบน TikTok เช่นกัน ซึ่งกระแสต่อต้าน TikTok จากนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศมีมากขึ้นทุกวัน
แต่ที่หนักหน่วงที่สุดเห็นทีจะเป็นอินเดียที่แบน TikTok ตั้งแต่ปี 2020 และเป็นการแบนชนิดที่เรียกว่าถอนรากถอนโคน ควบคุมไปยังประชาชนด้วย ไม่เฉพาะแต่ในอุปกรณ์ของรัฐเท่านั้น
เพราะเหตุใดแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมอย่างผู้คนกว่า 1,000 ล้านคนจากทั่วโลกถึงตกเป็นเป้าจากรัฐบาลทั่วโลก
ทำไมถึงแบน TikTok
ประเด็นหลักที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ให้เหตุผลในการแบน TikTok ก็คือข้อห่วงกังวลด้านความปลอดภัย สำคัญที่สุดคือความกลัวว่า TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของจีน จะส่งข้อมูลผู้ใช้งานให้กับรัฐบาลจีน และรัฐบาลจีนอาจสามารถเข้าถึงหลังบ้านของ TikTok เพื่อไปควบคุมอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มได้
คริสโทเฟอร์ เรย์ (Christopher Wray) ผู้อำนวยการ FBI (ที่มา FBI)
อัลกอริทึมก็คือเครื่องมือในการคัดเลือกเนื้อหาให้ผู้ใช้งานรับชม โดยกรณีของ TikTok จะวิเคราะห์จากประเภทเนื้อหาที่ผู้ใช้ชื่นชอบ
คริสโทเฟอร์ เรย์ (Christopher Wray) ผู้อำนวยการสำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา (FBI) เคยถึงขั้นออกมาแสดงความกังวลว่ารัฐบาลจีนจะใช้ข้อมูลที่ TikTok เก็บจากผู้ใช้งานไปเป็นอาวุธทางไซเบอร์เพื่อนำมาโจมตีรัฐบาลสหรัฐฯ เลยทีเดียว
สื่อฝั่งตะวันตกหลายสำนักก็เคยออกมารายงานว่าจีนใช้ TikTokในการสอดแนมชาวอเมริกัน โดยใช้ข้อมูลที่อยู่ของผู้ใช้ที่อยู่ในแอป
ข้อกังวลเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ
บริษัทเทคโนโลยีจีนต้องส่งข้อมูลให้รัฐบาล
จีนมีมาตรการทางกฎหมายหลายอย่างที่ควบคุมการจัดการข้อมูลของบริษัทเทคโนโลยี โดยอ้างเหตุการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และความมั่นคงของประชาชน
อย่างแรกคือกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (CSL) ที่ใช้บังคับในปี 2017 ซึ่งระบุว่ารัฐบาลจีนสามารถเรียกข้อมูลจากบริษัทต่าง ๆ ได้ หากเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีนิยามกว้างขวาง
ต่อมาคือมาตรการบังคับการส่งข้อมูลอัลกอริทึม ซึ่งเป็นเครื่องมือเลือกเนื้อหาให้ผู้ใช้รับชม และเป็นสิ่งที่บริษัทต่าง ๆ มักจะเก็บเป็นความลับ ไปให้รัฐบาล
ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว สำนักงานไซเบอร์สเปซของจีน (CAC) เคยออกมาตรการที่บังคับให้บริษัทเทคโนโลยีต้องส่งรายละเอียดของอัลกอริทึมที่แต่ละบริษัทใช้กับลูกค้าให้รัฐบาล ซึ่ง ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok เป็นหนึ่งในบริษัทที่ยอมส่งข้อมูลที่ว่านั้น
จีนยังมีมาตรการ ‘Golden Share’ ที่บังคับให้บริษัทเทคโนโลยีต้องยอมให้รัฐบาลเข้าถือหุ้น โดยอ้างว่าเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่ง ByteDance เคยให้รัฐบาลเข้ามาถือหุ้นในบริษัทลูกของตัวเองที่อยู่ในจีนเมื่อปี 2019
พฤติกรรมน่าสงสัยของ TikTok
นอกจากเนื้อหาในกฎหมายแล้ว ทาง TikTok เองยังเคยออกมาเผยรายละเอียดการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายบนแพลตฟอร์มเอง
โดยออกมาระบุในเดือนตุลาคมว่าไม่มีการเก็บข้อมูลที่อยู่ GPS จากผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกาเอาไว้ เป็นการตอบโต้ข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ
นโยบายความเป็นส่วนตัวของ TikTok (ที่มา TikTok)
แต่นโยบายความเป็นส่วนตัวของแพลตฟอร์ม ระบุว่า TikTok เก็บข้อมูลที่อยู่ของผู้ใช้งาน ทั้งข้อมูลที่มาจากซิมการ์ด ที่อยู่ IP และข้อมูลที่อยู่ GPS โดยอัตโนมัติ
ยิ่งกว่านั้น ByteDance ยังเคยออกมายอมรับว่า TikTok เคยสอดแนมความเคลื่อนไหวของนักข่าวในสหรัฐฯ เพื่อดูว่าพนักงานของตัวเองให้ข้อมูลภายในบริษัทกับนักข่าวเหล่านี้หรือไม่
แม้ต่อมาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะถูกไล่ออก และบริษัทออกมาขอโทษแล้ว แต่ความเป็นจริงที่ว่าบริษัทเคยปล่อยให้มีการสอดแนมยังคงเป็นสิ่งที่ไปเสริมความหวาดระแวงของประเทศต่าง ๆ
ความตึงเครียดระหว่างตะวันตกกับจีน
นักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินว่ากระแสการแบน TikTok ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของกระแสความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และโลกตะวันตก กับจีน ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
บอลลูนจีนขณะถูกยิงตกเหนือน่านฟ้าสหรัฐฯ หนึ่งในข้อพิพาทรอบใหม่ของ 2 มหาอำนาจ (ที่มา: BBC)
ความกังวลที่ว่าข้อมูลของประชาชนในประเทศจะตกไปอยู่ในมือของประเทศศัตรูย่อมเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้แน่นอน
ยิ่งในประเทศประชาธิปไตยที่การเลือกตั้งที่เป็นกำหนดผู้ที่จะขึ้นมาบริหารประเทศด้วยแล้ว การเข้าควบคุมความคิดเห็นของประชาชนผ่านการใช้อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียคงเป็นฝันร้ายที่สุด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา TikTok ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีนมาโดยตลอด และย้ำว่าจะปฏิเสธคำขอเข้าถึงข้อมูลจากรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงยังไม่เคยมีหลักฐานว่า TikTok ส่งข้อมูลไปยังรัฐบาลจีน
อย่างไรก็ดี ด้วยความเป็นรัฐบาลพรรคเดียวที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จของจีน และมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ ที่ควบคุมวงการเทคโนโลยี ทำให้หลายประเทศไม่มั่นใจนักว่าถึงเวลาจริง ๆ TikTok หรือ ByteDance จะสามารถปฏิเสธคำขอได้จริง
ประชาชนอาจถูกห้ามใช้ TikTok
แม้การแบน TikTok ในหลายประเทศยังจำกัดวงอยู่เฉพาะอุปกรณ์ในหน่วยงานของรัฐ และองค์กรต่าง ๆ เท่านั้น แต่ก็ส่อแววขยายวงไปถึงการห้ามประชาชนทั่วไปใช้ TikTok ด้วย
บางประเทศ อย่างสหรัฐฯ และไอร์แลนด์ ก็เริ่มมีการหารือและผลักดันเกี่ยวกับการแบน TikTok เป็นการทั่วไปบ้างแล้ว ยังไม่นับรวมถึงอินเดียที่บุกเบิกการห้ามใช้ TikTok ทั่วประเทศไปก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ TikTok เป็นแอปที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามและมีทีท่าว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกไปแล้ว
ทำให้ประเทศตะวันตกที่เป็นประชาธิปไตยก็ต้องฟังเสียงประชาชนที่อาจออกมาแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายที่ปิดกั้นทางเสรีภาพในการเลือก แม้จะอ้างเรื่องความเสี่ยงในด้านความเป็นส่วนตัวก็ตาม
ที่มา BBC (1), BBC (2), Statista, Independent.ie, Metro News, CNN (1), CNN (2), CNN (3), TikTok, CyberScoop, Reuters, The Guardian, South China Morning Post, NL Times, CNBC
The post จริงหรือที่ TikTok ส่งข้อมูลผู้ใช้ให้รัฐบาลจีน จนหลายประเทศรุมแบน appeared first on #beartai.
Credit ข่าวจาก : www.beartai.com/