![[รีวิว] Missing – งานทริลเลอร์ผ่านมัลติสกรีนที่เหนือชั้นกว่าภาคแรก](https://assets.beartai.com/uploads/2021/01/timeline_25610514_172539-2-293x452-1.jpg)
‘Missing’ หนัง Thriller ผ่านจอกับการค้นหาแม่ที่หายสาบสูญไปในทริปโคลัมเบียของเด็กสาวชาวแอฟริกันอเมริกันรายหนึ่งโดยอาศัยอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ
The post [รีวิว] Missing – งานทริลเลอร์ผ่านมัลติสกรีนที่เหนือชั้นกว่าภาคแรก appeared first on #beartai.
หากใครจำได้เมื่อปี 2018 เคยมีหนัง ‘Searching’ หรือในชื่อไทยว่า ‘เสิร์ชหา..สูญหาย’ ที่มาพร้อมคอนเซปต์ในการเล่าเรื่องผ่านหน้าจอต่าง ๆ โดยในหนังภาคแรกเป็นการค้นหาลูกสาวของชาวเอเชียอเมริกัน แต่พอมาใน ‘Missing’ หนังได้เปลี่ยนแนวทางเป็นการค้นหาแม่ที่หายสาบสูญไปในทริปโคลัมเบียของเด็กสาวชาวแอฟริกันอเมริกันรายหนึ่งโดยอาศัยอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ
หนังกล่าวถึง จูน (รับบทโดย สตอร์ม รีด, Storm Reid) เด็กสาวที่สูญเสียพ่อไปตั้งแต่ยังเด็ก เธออาศัยอยู่กับ เกรซ (รับบทโดย นีอา ลอง, Nia Long) แม่ของเธอเพียงลำพัง และเมื่อเกรซได้พบรักครั้งใหม่กับ เควิน (รับบทโดยเคน เหลียง, Ken Leung) นักธุรกิจหนุ่มสุดโรแมนติก จึงเกิดช่องว่างระหว่างจูนกับแม่ของเธอ แต่เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้เธอติดต่อกับแม่ไม่ได้ จูนจึงต้องทำทุกทางก่อนแม่ของเธอจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยใน 48 ชั่วโมงแต่ยิ่งเธอค้นหาวีธีการช่วยเหลือแม่ของเธอมากเท่าไหร่ เธอกลับยิ่งพบความลับดำมืดของเกรซมากเท่านั้น
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นหนังในจักรวาลเดียวกันหรือจะเป็นภาคต่อของ ‘Searching’ แต่ ‘Missing’ ก็มีความเป็นออริจินัลของตัวเองมากพอสมควร เพราะพอพลิกสถานะเหยื่อที่หายตัวไปเป็นผู้ใหญ่ทีมเขียนบทก็ดูจะขยันสรรหาปมต่าง ๆ มาสร้างความระทึกและพลิกแพลงให้เหนือการคาดเดาของคนดูได้อย่างชาญฉลาดมากกว่า ‘Searching’ เสียด้วยซ้ำ
โดยหนึ่งในความดีงามนอกจากความชาญฉลาดในการเล่นกับแอปต่าง ๆ ตั้งแต่การแทร็กการเคลื่อนที่จาก Map ใน Google และการค้นกิจกรรมในบัญชีโซเชียลมีเดียแล้ว คือการที่บทหนังใส่ใจกับมิติตัวละครมากขึ้นโดยเฉพาะตัวละครจูนที่บอกได้เลยว่าแม้จะเริ่มต้นด้วยความกร้านโลกแต่บทหนังก็ทำให้เราเห็นบาดแผลของเธอมากพอจะทำให้ผู้ชมเห็นใจและอยากเอาใจช่วยซึ่งเป็นสิ่งที่บทหนังของ ‘Searching’ เคยขาดหายไป และยิ่งได้การแสดงเยี่ยม ๆ ของ สตอร์ม รีด ก็ยิ่งทำให้จูนกลายเป็นตัวละครที่คนดูอยากจูงมือเธอเพื่อไปตามหาแม่ของเธอให้เจอให้ได้
อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการพลิกไปมาของสถานการณ์ในเรื่องที่อยากชมว่าทีมบทภาพยนตร์ที่นำโดย วิล เมอร์ริค (Will Merrick), นิโคลาส ดี จอห์นสัน (Nicholas D Johnson) สองผู้กำกับหนังทำให้ผู้ชมลุ้นจิกเบาะจริง ๆ เพราะพอหนังพลิกสถานการณ์จากคนหายไปเป็นการลักพาตัวแล้วพลิกอีกรอบเป็นแผนสมรู้ร่วมคิดแล้ว แต่ละครั้งมันมีเหตุและผลรองรับเสมอโดยอาศัยเครื่องมืออย่างดิจิทัลฟุตพรินต์ (Digital Footprint) มาทำหน้าที่เป็นแฟล็ชแบ็คแทนฉากย้อนอดีตได้อย่างชาญฉลาดมาก
แต่กระนั้นแล้วก็คงต้องบอกตามตรงว่าด้วยการจำกัดมุมมองที่ให้ผู้ชมอยู่กับหน้าจอของจูน หลายครั้งหลายคราวมันก็แอบโกงไปบ้างโดยเฉพาะการมาถึงของ ฮาวี ที่รับบทโดย ฮัวคิม เดอ อัลเมดา (Joaquim de Almeida) ตัวละครที่จูนได้พบจากการใช้บริการออนไลน์ ที่ดูเหมือนฑูตสวรรค์ทรงโปรดไปนิดแต่ตอนท้ายมันก็สมเหตุสมผลจนได้หากเทียบกับอีกหลายเหตุการณ์ที่ดูเวอร์วังและไม่น่าเป็นไปได้ แต่ในที่สุดคนดูก็น่าจะพอให้อภัยได้เพราะมันทำให้ตัวหนังดูสนุกขึ้นมากจริง ๆ
โดยภาพรวมแล้วต้องบอกว่า ‘Missing’ นับเป็นงานที่แม้จะไม่ได้มีไอเดียออริจินัลแต่งานบทภาพยนตร์ก็ใส่ใจมากพอที่จะนำเสนอความระทึกผ่านระบบดิจิทัลได้อย่างสนุกชวนติดตาม พลิกไปพลิกมาจนเดาทางไม่ถูก ที่สำคัญมันยังสามารถให้ข้อคิดและวิธีการเบื้องต้นหากเราติดอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกับตัวละครได้อย่างเห็นภาพและสมเหตุสมผลน่าเชื่อถือ
The post [รีวิว] Missing – งานทริลเลอร์ผ่านมัลติสกรีนที่เหนือชั้นกว่าภาคแรก appeared first on #beartai.
Credit ข่าวจาก : www.beartai.com/